เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [7. สัตตกนิบาต] 2. คันธารวรรค 3. กุมภการชาดก (408)
[85] ข้าพระองค์ได้พุ่งตัวซึ่งมีเถาวัลย์ผูกติดที่ 2 เท้าหลังอย่างมั่นคง
ไปจากต้นไม้นั้นประมาณชั่วร้อยคันธนูที่ปลดสายแล้ว
[86] ข้าพระองค์นั้นพุ่งออกไปตามลมเข้าหาต้นมะม่วงนี้
ดุจเมฆถูกลมพัดขาด เมื่อไปไม่ถึง
จึงใช้เท้าหน้าทั้ง 2 จับกิ่งมะม่วงกลางอากาศนั้น
[87] ข้าพเจ้านั้น ถูกกิ่งไม้และเถาวัลย์ขึงอยู่เหมือนสายพิณ
พวกลิงใช้เท้าเหยียบข้ามไปโดยสวัสดี
[88] การผูกด้วยเถาวัลย์นั้นไม่ทำให้ข้าพเจ้าเดือดร้อน
ถึงตายก็ไม่เดือดร้อน ขอข้าพเจ้าได้นำความสุข
มาให้แก่ฝูงลิงที่ข้าพเจ้าปกครองอยู่(เท่านั้น)
[89] ขอเดชะพระราชาผู้ปราบข้าศึก
นี้เป็นอุปมาสำหรับพระองค์
ขอพระองค์ทรงสดับข้ออุปมานั้นเถิด
ก็พระราชามหากษัตริย์ผู้ทรงทราบชัด
ควรจะแสวงหาความสุขมาให้แก่ชนทั้งปวง
คือ ทั้งชาวแคว้น พาหนะ พลนิกาย และชาวบ้าน
มหากปิชาดกที่ 2 จบ

3. กุมภการชาดก (408)
ว่าด้วยนายช่างหม้อ
(พระปัจเจกพุทธเจ้า 4 องค์กล่าวกับพระโพธิสัตว์องค์ละคาถาว่า)
[90] อาตมาได้เห็นต้นมะม่วงกลางป่า เขียวชะอุ่ม
งอกงาม ผลิดอกออกผลสะพรั่ง
อาตมาได้เห็นมะม่วงต้นนั้นถูกทำลาย เพราะผลเป็นเหตุ
ครั้นเห็นเช่นนั้นจึงเที่ยวภิกขาจาร (ออกบวช)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :271 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [7. สัตตกนิบาต] 2. คันธารวรรค 4. ทัฬหธัมมชาดก (409)
[91] กำไลแก้วคู่หนึ่งที่นายช่างผู้ชาญฉลาดเจียรไนแล้ว
เป็นของเกลี้ยงเกลา ที่สตรีสวมใส่ย่อมไม่เกิดเสียงดัง1
แต่เพราะสวมใส่วงที่ 2 เข้าจึงได้มีเสียงดัง
อาตมาเห็นเช่นนั้นแล้วจึงเที่ยวภิกขาจาร
[92] นกจำนวนมากพากันรุมจิกตีนกตัวหนึ่ง
ซึ่งกำลังคาบชิ้นเนื้อมาอยู่เพราะอาหารเป็นเหตุ
อาตมาได้เห็นเช่นนั้นแล้วจึงเที่ยวภิกขาจาร
[93] อาตมาได้เห็นโคผู้มีหนอกกระเพื่อม
มีสีสันและมีกำลังอยู่ท่ามกลางฝูงโค
อาตมาได้เห็นมันขวิดโคผู้ตัวหนึ่งเพราะกามเป็นเหตุ
ครั้นเห็นเช่นนั้นแล้วจึงเที่ยวภิกขาจาร
(พระโพธิสัตว์กล่าวกับภรรยาว่า)
[94] พระเจ้ากรัณฑกะ ราชาแห่งแคว้นกาลิงคะ
พระเจ้านัคคชิ ราชาแห่งแคว้นคันธาระ
พระเจ้านิมิราช ราชาแห่งแคว้นวิเทหะ
และพระเจ้าทุมมุขะ ราชาแห่งแคว้นปัญจาละ
ทรงละทิ้งแคว้นเหล่านั้นแล้ว
หมดความกังวล ทรงผนวชแล้ว
[95] แม้พระราชาทุกพระองค์เสมอด้วยเทพเจ้า
เสด็จมาประชุมกัน ย่อมรุ่งเรืองเหมือนไฟที่ลุกโชน
นี่น้องหญิงผู้มีโชค ถึงพี่ก็จะเป็นเหมือนพระราชาเหล่านี้
จักละกามซึ่งมีประการต่าง ๆ แล้วเที่ยวไปผู้เดียว

เชิงอรรถ :
1 สวมใส่ย่อมไม่เกิดเสียงดัง หมายถึงสวมข้างละวง (ขุ.ชา.อ. 5/91/177)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :272 }