เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [7. สัตตกนิบาต] 1. กุกกุวรรค 8. อัฏฐิเสนชาดก (403)
(พระราชาตรัสว่า)
[56] ผู้ใดเลี้ยงชีพอยู่ได้ด้วยการขอ
ไม่ขอสิ่งที่ควรขอในกาลอันควร
ผู้นั้นทำลายผู้อื่นเสียจากบุญ
ทั้งตนเองก็เลี้ยงชีพอยู่ไม่ได้
[57] ส่วนผู้ใดเลี้ยงชีพอยู่ได้ด้วยการขอ
ขอสิ่งที่ควรขอในกาลอันควร
ผู้นั้นทำผู้อื่นให้ได้บุญ
ทั้งตนเองก็เลี้ยงชีพอยู่ได้
[58] ผู้มีปัญญาทั้งหลายเห็นยาจกมาแล้วไม่รังเกียจ
ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้ประพฤติพรหมจรรย์
พระคุณเจ้าเป็นที่รักของโยม
นิมนต์พระคุณเจ้ากล่าวขอสิ่งที่ต้องการเถิด
(ฤๅษีอัฏฐิเสนะทูลว่า)
[59] ผู้มีปัญญาทั้งหลายย่อมไม่ขอเลย
ส่วนนักปราชญ์ควรจะรู้เอง
พระอริยะเพียงเจาะจงยืนเท่านั้น
นี้เป็นการขอของพระอริยะ
(พระราชาตรัสว่า)
[60] ท่านพราหมณ์ โยมขอถวายโคแดง 1,000 ตัว
พร้อมกับโคจ่าฝูงแก่ท่าน
เพราะพระอริยะได้ฟังคาถา
อันประกอบด้วยธรรมของพระคุณเจ้าแล้ว
จะไม่พึงถวายแก่พระอริยะได้อย่างไร
อัฏฐิเสนชาดกที่ 8 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :265 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [7. สัตตกนิบาต] 1. กุกกุวรรค 10. พกพรหมชาดก (405)
9. กปิชาดก (404)
ว่าด้วยคุณสมบัติของผู้บริหารหมู่คณะ
(พระโพธิสัตว์กล่าวให้โอวาทแก่ฝูงลิงว่า)
[61] บัณฑิตไม่ควรอยู่ในสถานที่ที่คนคู่เวรกันอยู่
เพราะบุคคลเมื่ออยู่ในระหว่างคนเป็นคู่เวรกัน
คืนหนึ่งหรือสองคืนก็ตาม ย่อมอยู่เป็นทุกข์
[62] ลิงตัวหัวหน้ามีจิตเรรวน เพราะทำตามลิงที่มีจิตเรรวน
มันได้ทำความพินาศให้แก่ฝูง เพราะลิงตัวเดียวเป็นเหตุ
[63] สัตว์โง่แต่สำคัญตนว่าฉลาด เป็นผู้นำฝูง
ลุอำนาจใจของตนเอง
ก็จะต้องนอนตายเหมือนอย่างลิงตัวนี้
[64] สัตว์โง่แต่มีกำลัง เป็นผู้นำฝูง ไม่ดี
เพราะไม่เกื้อกูลแก่หมู่ญาติ
เหมือนนกต่อไม่เกื้อกูลแก่นกทั้งหลาย
[65] ส่วนสัตว์ฉลาดมีกำลัง เป็นผู้นำฝูง ดี
เพราะเกื้อกูลแก่หมู่ญาติ
เหมือนท้าววาสวะเกื้อกูลแก่หมู่เทพชั้นดาวดึงส์
[66] ส่วนผู้ใดตรวจดูศีล ปัญญา และสุตะในตน
ผู้นั้นย่อมประพฤติประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย
คือ ทั้งตนและผู้อื่น
[67] เพราะเหตุนั้น นักปราชญ์พึงตรวจดูตน
เหมือนตรวจดูศีล ปัญญา และสุตะ
แล้วบริหารหมู่คณะบ้าง ปฏิบัติอยู่ลำพังผู้เดียวบ้าง
กปิชาดกที่ 9 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :266 }