เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [6. ฉักกนิบาต] 2. ขรปุตตวรรค 7. อุปสิงฆปุปผชาดก (392)
(พระราชาทำลายความยึดถือผิดของตนได้แล้วทรงดีพระทัย จึงตรัสว่า)
[112] วันนี้ มิ่งขวัญได้เกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์แล้วหนอ
ที่ข้าพระองค์ได้เห็นท้าววาสวะผู้เป็นจอมเทพ
ข้าแต่ท้าวสักกะ ข้าพระองค์เห็นภิกษุและพระองค์แล้ว
จะทำบุญให้มาก ๆ
(ท้าวสักกโพธิสัตว์ตรัสชมเชยบัณฑิตว่า)
[113] ชนเหล่าใดมีปัญญา เป็นพหูสูต
คิดเหตุการณ์ได้เป็นอันมาก
ชนเหล่านั้นควรคบโดยแท้
ขอเดชะพระราชา พระองค์ทรงเห็นภิกษุและข้าพระองค์แล้ว
ขอจงทำบุญให้มากเถิด
(พระราชาตรัสว่า)
[114] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมเทพ
เพราะได้ฟังคำอันเป็นสุภาษิตของพระองค์
ข้าพระองค์จักไม่เป็นคนมักโกรธ มีจิตผ่องใสอยู่เป็นนิตย์
เป็นผู้ควรแก่การขอของแขกทุกคน
จักกำจัดมานะแล้วกราบไหว้ท่านผู้ควรกราบไหว้
ปัพพชิตวิเหฐกชาดกที่ 6 จบ

7. อุปสิงฆปุปผชาดก (392)
ว่าด้วยฤาษีลักดมดอกไม้
(เทพธิดาองค์หนึ่งสถิตอยู่ที่ค่าคบต้นไม้ ต้องการให้ฤๅษีโพธิสัตว์สลดใจ จึง
กล่าวว่า)
[115] ท่านผู้นิรทุกข์ การที่ท่าน ลักดมดอกบัวที่เขายังไม่ได้ให้
นั่นเป็นองค์แห่งการขโมยอย่างหนึ่ง
ท่านชื่อว่าเป็นผู้ขโมยกลิ่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :249 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [6. ฉักกนิบาต] 2. ขรปุตตวรรค 8. วิฆาสาทชาดก (393)
(ฤๅษีโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[116] ดอกบัวอาตมาก็ไม่ได้ลักและไม่ได้หัก ดมอยู่ห่าง ๆ1
เมื่อเป็นเช่นนั้น ทำไมจึงถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ขโมยกลิ่น
(ฤๅษีโพธิสัตว์เห็นบุรุษขุดเหง้าบัวเก็บดอกบัว จึงกล่าวกับเทพธิดานั้นว่า)
[117] ชายใดขุดเอาเหง้าบัว หักเอาดอกบัวขาวไป
ชายนั้นหยาบช้าอย่างนี้ ทำไมไม่ถูกกล่าวหา
(เทพธิดาบอกสาเหตุที่ไม่ว่ากล่าวบุรุษนั้นว่า)
[118] คนที่ทำงานหยาบช้ามากเป็นคนแปดเปื้อน
เหมือนผ้านุ่งของหญิงเลี้ยงเด็ก
สำหรับชายคนนั้นเราไม่ว่าอะไร
แต่ท่านเราสมควรจะว่ากล่าว
[119] บุคคลผู้บริสุทธิ์แสวงหาแต่กรรมอันสะอาดอยู่เสมอ
ความชั่วเท่าปลายขนทรายย่อมปรากฏเหมือนเท่าหมอกเมฆ
(ฤๅษีโพธิสัตว์ซึ่งเทพธิดานั้นให้สลดใจกล่าวว่า)
[120] นี่เทพผู้ควรบูชา ท่านรู้จักอาตมาดี
ซ้ำยังได้อนุเคราะห์อาตมาด้วย
ขอท่านโปรดเตือนซ้ำอีก เมื่อเห็นความบกพร่องเช่นนี้
(เทพธิดากล่าวว่า)
[121] ข้าพเจ้าไม่ได้อาศัยท่านเลี้ยงชีพ
และไม่ได้เป็นลูกจ้างของท่าน
ท่านผู้เห็นภัย ท่านเองนั่นแหละ
ควรจะรู้จักกรรมอันเป็นเหตุให้ไปสู่สุคติ
อุปสิงฆปุปผชาดกที่ 7 จบ

เชิงอรรถ :
1 ดมอยู่ห่าง ๆ หมายถึงยืนดมอยู่ในที่ไกล (ขุ.ชา.อ. 5/116/93)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :250 }