เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [6. ฉักกนิบาต] 2. ขรปุตตวรรค 7. อุปสิงฆปุปผชาดก (392)
[107] ส่วนนักปราชญ์ได้โภคะทั้งหลายแล้วย่อมสงเคราะห์พวกญาติ
เพราะการสงเคราะห์นั้นเขาย่อมได้รับเกียรติยศชื่อเสียง
เขาจากโลกนี้ไปแล้วก็บันเทิงในสวรรค์
มัยหกสกุณชาดกที่ 5 จบ

6. ปัพพชิตวิเหฐกชาดก (391)
ว่าด้วยผู้เบียดเบียนนักบวช
(พระราชาทรงเจรจากับวิทยาธรว่า)
[108] ท่านผู้มีรูปงามประนมมือนมัสการสมณะรูปทรามที่อยู่ข้างหน้า
สมณะนั้นประเสริฐกว่าท่านหรือเสมอท่าน
ขอท่านจงบอกชื่อของตนเองและชื่อของสมณะรูปนั้น
(ท้าวสักกโพธิสัตว์กราบทูลพระราชาว่า)
[109] ข้าแต่มหาราช ทวยเทพทั้งหลายจะไม่เอ่ยชื่อ
และโคตรของวิสุทธิเทพผู้ดำเนินไป
แต่ข้าพระองค์จะบอกชื่อของตนแด่พระองค์
ข้าพระองค์คือท้าวสักกะผู้เป็นจอมเทพชั้นไตรทศ
(พระราชาตรัสถามถึงประโยชน์ในการนอบน้อมภิกษุว่า)
[110] ผู้ใดเห็นภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยจรณะแล้ว
ให้ท่านอยู่ข้างหน้าประนมมือนมัสการอยู่
ข้าแต่เทวราช ข้าพระองค์ขอถามเนื้อความนั้นกับพระองค์
ผู้นั้นจากโลกนี้ไปแล้วจะได้ความสุขหรือ
(ท้าวสักกโพธิสัตว์ตรัสบอกว่า)
[111] ผู้ใดเห็นภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยจรณะแล้ว
ให้ท่านอยู่ข้างหน้าประนมมือนมัสการอยู่
ผู้นั้นจะได้รับการสรรเสริญในปัจจุบัน
และหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสวรรค์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :248 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [6. ฉักกนิบาต] 2. ขรปุตตวรรค 7. อุปสิงฆปุปผชาดก (392)
(พระราชาทำลายความยึดถือผิดของตนได้แล้วทรงดีพระทัย จึงตรัสว่า)
[112] วันนี้ มิ่งขวัญได้เกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์แล้วหนอ
ที่ข้าพระองค์ได้เห็นท้าววาสวะผู้เป็นจอมเทพ
ข้าแต่ท้าวสักกะ ข้าพระองค์เห็นภิกษุและพระองค์แล้ว
จะทำบุญให้มาก ๆ
(ท้าวสักกโพธิสัตว์ตรัสชมเชยบัณฑิตว่า)
[113] ชนเหล่าใดมีปัญญา เป็นพหูสูต
คิดเหตุการณ์ได้เป็นอันมาก
ชนเหล่านั้นควรคบโดยแท้
ขอเดชะพระราชา พระองค์ทรงเห็นภิกษุและข้าพระองค์แล้ว
ขอจงทำบุญให้มากเถิด
(พระราชาตรัสว่า)
[114] ข้าแต่พระองค์ผู้จอมเทพ
เพราะได้ฟังคำอันเป็นสุภาษิตของพระองค์
ข้าพระองค์จักไม่เป็นคนมักโกรธ มีจิตผ่องใสอยู่เป็นนิตย์
เป็นผู้ควรแก่การขอของแขกทุกคน
จักกำจัดมานะแล้วกราบไหว้ท่านผู้ควรกราบไหว้
ปัพพชิตวิเหฐกชาดกที่ 6 จบ

7. อุปสิงฆปุปผชาดก (392)
ว่าด้วยฤาษีลักดมดอกไม้
(เทพธิดาองค์หนึ่งสถิตอยู่ที่ค่าคบต้นไม้ ต้องการให้ฤๅษีโพธิสัตว์สลดใจ จึง
กล่าวว่า)
[115] ท่านผู้นิรทุกข์ การที่ท่าน ลักดมดอกบัวที่เขายังไม่ได้ให้
นั่นเป็นองค์แห่งการขโมยอย่างหนึ่ง
ท่านชื่อว่าเป็นผู้ขโมยกลิ่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :249 }