เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [6. ฉักกนิบาต] 2. ขรปุตตวรรค 5. มัยหกสกุณชาดก (390)
(งูถามปูว่า)
[96] ก็ธรรมดาปูไม่ต้องการจะจับกากิน
และไม่ต้องการจะจับงูเห่ากิน
ท่านผู้มีตาโปน เราขอถามท่าน
เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไรท่านจึงหนีบเราทั้ง 2 ไว้
(ปูจึงบอกเหตุผลที่หนีบกาไว้ว่า)
[97] ชายนี้เป็นผู้หวังความเจริญแก่ข้าพเจ้า
จับข้าพเจ้าแล้วนำไปที่แอ่งน้ำ
เมื่อเขาตาย ข้าพเจ้าจะมีทุกข์มิใช่น้อย
ข้าพเจ้าและชายนี้ก็จะไม่มีทั้ง 2 คน
[98] อนึ่ง ชนทั้งมวลเห็นข้าพเจ้ามีร่างกายเจริญเติบโต
มีเนื้ออร่อย มีเนื้อมาก และมีเนื้อนุ่ม ก็ต้องการจะเบียดเบียน
แม้กาทั้งหลายเห็นข้าพเจ้าแล้วก็พึงเบียดเบียน
(งูต้องการลวงปู จึงกล่าวว่า)
[99] ถ้าเราทั้ง 2 ถูกหนีบเพราะเหตุแห่งชายนี้
ขอชายนี้จงลุกขึ้น ข้าพเจ้าจะดูดพิษให้
ขอท่านจงปล่อยข้าพเจ้าและกาโดยเร็ว
ก่อนที่พิษอันร้ายแรงจะเข้าสู่ชายนี้
(ปูได้ฟังดังนั้นคิดอุบายได้แล้ว จึงกล่าวว่า)
[100] ข้าพเจ้าจะปล่อยงูแต่จะยังไม่ปล่อยกา
กาจักเป็นตัวประกันก่อนจนกว่าข้าพเจ้าจะเห็น
ชายนี้มีความสุข ปราศจากโรคแล้ว
จึงจะปล่อยกาเหมือนปล่อยงู

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :246 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [6. ฉักกนิบาต] 2. ขรปุตตวรรค 5. มัยหกสกุณชาดก (390)
(พระศาสดาตรัสพระคาถาสุดท้ายประชุมชาดกว่า)
[101] กาในกาลนั้นคือพระเทวทัต ส่วนงูเห่าคือมาร
ปูคือพระอานนท์ ส่วนพราหมณ์โชคดีคือเราผู้เป็นศาสดา
สุวัณณกักกฏกชาดกที่ 4 จบ

5. มัยหกสกุณชาดก (390)
ว่าด้วยนกมัยหกะ
(ฤๅษีโพธิสัตว์แสดงธรรมแก่น้องชายว่า)
[102] นกมัยหกะ1บินไปตามเนินเขาและซอกเขา
จับที่ต้นเลียบซึ่งมีผลสุกแล้วร่ำร้องว่า ของกู ของกู
[103] เมื่อมันบ่นเพ้ออยู่อย่างนี้ ฝูงนกที่บินรวมกันมา
ก็พากันจิกกินผลเลียบแล้วก็บินจากไป
มันก็ยังคงบ่นเพ้ออยู่นั่นเอง ฉันใด
[104] คนบางคนในโลกนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เก็บหอมรอมริบทรัพย์ไว้เป็นจำนวนมาก
ตนเองก็ไม่ได้ใช้สอย บางส่วนก็ไม่ได้แบ่งให้หมู่ญาติเลย
[105] เขามิได้ใช้สอยหรือบริโภคสมบัติอื่น ๆ
ที่ตนมีอยู่แม้สักคราวเดียว
ไม่ว่าจะเป็นเครื่องนุ่งห่ม อาหาร มาลัย หรือเครื่องลูบไล้ก็ตาม
อนึ่ง พวกญาติ ๆ เขาก็ไม่สงเคราะห์
[106] เมื่อเขาบ่นเพ้อว่า ของกู ของกู อยู่อย่างนี้ หวงแหนอยู่
พระราชาบ้าง พวกโจรบ้าง
พวกทายาทไม่เป็นที่รักบ้าง ก็ฉกฉวยเอาทรัพย์ไป
คนผู้นั้นก็ยังคงบ่นเพ้ออยู่นั่นแหละ

เชิงอรรถ :
1 นกมัยหกะ หมายถึงนกเขา เพราะชอบร้อง(ขัน)ว่า ของกู ของกู อยู่ตลอดเวลา (ขุ.ชา.อ. 5/102/86)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :247 }