เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [6. ฉักกนิบาต] 2. ขรปุตตวรรค 4. สุวัณณกักกฏกชาดก (389)
(จูฬตุณฑิลสุกรถามว่า)
[91] อะไรหนอคือห้วงน้ำที่ไม่มีโคลนตม
อะไรเล่าที่เรียกว่าเหงื่อและมลทิน
และอะไรเล่าคือเครื่องลูบไล้ชนิดใหม่
ที่มีกลิ่นหอมไม่จางหายไปในกาลไหน ๆ
(มหาตุณฑิลสุกรโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[92] ธรรมะคือห้วงน้ำที่ไม่มีโคลนตม
บาปเรียกว่าเหงื่อและมลทิน
อนึ่ง ศีลคือเครื่องลูบไล้ชนิดใหม่
ที่มีกลิ่นหอมไม่จางหายไปในกาลไหน ๆ
[93] คนที่ฆ่าสัตว์ย่อมพอใจ ส่วนสัตว์ที่ถูกฆ่าย่อมไม่พอใจ
ในคืนเดือนเพ็ญแห่งวันอุโบสถ สัตว์ทั้งหลายเช่นเรายินดีสละชีพ
ตุณฑิลชาดกที่ 3 จบ

4. สุวัณณกักกฏกชาดก (389)
ว่าด้วยปูทองที่ฉลาด
(กาด่างูว่า)
[94] เราถูกปูทองซึ่งมีตาโปนออกมา
มีกระดูกเป็นหนัง1 อาศัยอยู่ในน้ำ ไม่มีขน หนีบแล้ว
ร้องขอความกรุณาอยู่
เพื่อนเอ๋ย เพราะเหตุใดหนอ ท่านจึงละทิ้งเราไป
(พระศาสดาทรงแสดงข้อความนี้ว่า)
[95] งูผู้เป็นเพื่อนนั้น เมื่อจะป้องกันกาผู้เป็นเพื่อน
จึงพ่นพิษพร้อมกับแผ่พังพานใหญ่ไปจนถึงตัวปู
ปูจึงได้หนีบงูไว้อีก

เชิงอรรถ :
1 คำว่า มีกระดูกเป็นหนัง ได้แก่ กระดองปู

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :245 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [6. ฉักกนิบาต] 2. ขรปุตตวรรค 5. มัยหกสกุณชาดก (390)
(งูถามปูว่า)
[96] ก็ธรรมดาปูไม่ต้องการจะจับกากิน
และไม่ต้องการจะจับงูเห่ากิน
ท่านผู้มีตาโปน เราขอถามท่าน
เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไรท่านจึงหนีบเราทั้ง 2 ไว้
(ปูจึงบอกเหตุผลที่หนีบกาไว้ว่า)
[97] ชายนี้เป็นผู้หวังความเจริญแก่ข้าพเจ้า
จับข้าพเจ้าแล้วนำไปที่แอ่งน้ำ
เมื่อเขาตาย ข้าพเจ้าจะมีทุกข์มิใช่น้อย
ข้าพเจ้าและชายนี้ก็จะไม่มีทั้ง 2 คน
[98] อนึ่ง ชนทั้งมวลเห็นข้าพเจ้ามีร่างกายเจริญเติบโต
มีเนื้ออร่อย มีเนื้อมาก และมีเนื้อนุ่ม ก็ต้องการจะเบียดเบียน
แม้กาทั้งหลายเห็นข้าพเจ้าแล้วก็พึงเบียดเบียน
(งูต้องการลวงปู จึงกล่าวว่า)
[99] ถ้าเราทั้ง 2 ถูกหนีบเพราะเหตุแห่งชายนี้
ขอชายนี้จงลุกขึ้น ข้าพเจ้าจะดูดพิษให้
ขอท่านจงปล่อยข้าพเจ้าและกาโดยเร็ว
ก่อนที่พิษอันร้ายแรงจะเข้าสู่ชายนี้
(ปูได้ฟังดังนั้นคิดอุบายได้แล้ว จึงกล่าวว่า)
[100] ข้าพเจ้าจะปล่อยงูแต่จะยังไม่ปล่อยกา
กาจักเป็นตัวประกันก่อนจนกว่าข้าพเจ้าจะเห็น
ชายนี้มีความสุข ปราศจากโรคแล้ว
จึงจะปล่อยกาเหมือนปล่อยงู

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :246 }