เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [6. ฉักกนิบาต] 1. อวาริยวรรค 2. เสตเกตุชาดก (377)
[8] พ่อเอ๋ย เจ้าอย่าโกรธ เพราะความโกรธไม่ดีเลย
ทิศที่เจ้ายังไม่ได้เห็น ยังไม่ได้ยินมีอีกมาก
พ่อเสตเกตุ มารดาบิดาเป็นทิศเบื้องหน้า
พระอริยะทั้งหลายกล่าวสรรเสริญอาจารย์ว่าเป็นทิศเบื้องขวา
[9] คฤหัสถ์ถวายข้าว น้ำ และผ้า กล่าวนิมนต์ผู้ใด
แม้ผู้นั้นพระอริยะทั้งหลายย่อมเรียกว่า เป็นทิศเบื้องบน
เสตเกตุ ทิศนี้เป็นทิศที่ยอดเยี่ยม
เพราะสัตว์ทั้งหลายผู้มีทุกข์ถึงแล้วย่อมเป็นสุข
(พระราชาทรงเห็นดาบสทั้งหลายบำเพ็ญตบะผิด จึงตรัสสนทนากับปุโรหิตว่า)
[10] ชฎิลเหล่าใดนุ่งห่มหนังสัตว์ที่ขรุขระ
มีขี้ฟันเขรอะ ร่างกายสกปรก สาธยายมนต์อยู่
ชฎิลเหล่านั้นประกอบหน้าที่การงานของมนุษย์
จะรู้แจ้งโลกนี้แล้วพ้นจากอบายได้หรือ
(ปุโรหิตกราบทูลว่า)
[11] ขอเดชะพระราชา หากบุคคลถึงจะเป็นพหูสูต
กระทำแต่กรรมชั่ว ก็ชื่อว่าไม่ประพฤติธรรม
เขาแม้จะมีพระเวทตั้งพัน อาศัยความเป็นพหูสูตนั้น
แต่ไม่บรรลุจรณธรรม1 ก็พ้นจากทุกข์ไม่ได้
(เสตเกตุดาบสกล่าวกับปุโรหิตนั้นว่า)
[12] บุคคลแม้จะมีพระเวทตั้งพัน อาศัยความเป็นพหูสูตนั้น
แต่ไม่บรรลุจรณธรรม ก็พ้นจากทุกข์ไม่ได้
อาตมาเข้าใจว่า พระเวททั้งหลายเป็นสิ่งที่ไร้ผล
จรณธรรมพร้อมทั้งความสำรวม2เท่านั้นเป็นสัจจะ

เชิงอรรถ :
1 จรณธรรม ในที่นี้หมายถึงศีลและสมาบัติ 8 (ขุ.ชา.อ. 5/11/11)
2 ความสำรวม ในที่นี้เป็นชื่อของศีล (ขุ.ชา.อ. 5/12/11)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :229 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [6. ฉักกนิบาต] 1. อวาริยวรรค 3. ทรีมุขชาดก (379)
(ปุโรหิตได้กล่าวว่า)
[13] พระเวททั้งหลายจะไร้ผลก็หาไม่
จรณธรรมพร้อมทั้งความสำรวมเท่านั้นเป็นสัจจะ
เพราะบุคคลบรรลุพระเวททั้งหลายแล้วย่อมได้เกียรติ
บุคคลผู้ฝึกตนดีแล้วด้วยจรณธรรมย่อมบรรลุความสงบ1
เสตเกตุชาดกที่ 2 จบ

3. ทรีมุขชาดก (378)
ว่าด้วยพระทรีมุขปัจเจกพุทธเจ้า
(พระปัจเจกพุทธเจ้าแสดงธรรมโปรดพระเจ้าพรหมทัตว่า)
[14] กามทั้งหลายเสมือนเปือกตม เสมือนหล่ม
ก็ภัยนี้บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า เป็นมูลเหตุแห่งภัย 3 ประการ
กามทั้งหลายคือธุลีและควัน อาตมภาพก็ได้ประกาศไว้แล้ว
ขอถวายพระพร พระเจ้าพรหมทัต
ขอมหาบพิตรทรงละกามเหล่านี้ออกผนวชเถิด
(พระราชาครั้นทรงสดับดังนั้นแล้ว ตรัสบอกความที่พระองค์พัวพันด้วย
กิเลสว่า)
[15] ท่านพราหมณ์ โยมกำหนัดยินดี
และหมกมุ่นอยู่ในกามทั้งหลาย
ประสงค์จะมีชีวิตอยู่อย่างนี้
จึงไม่อาจจะละกามอันน่าสะพรึงกลัวนั้นได้
แต่โยมจะทำบุญทั้งหลายให้มาก

เชิงอรรถ :
1 ความสงบ ในที่นี้หมายถึงนิพพาน (ขุ.ชา.อ. 5/13/12)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :230 }