เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [6. ฉักกนิบาต] 1. อวาริยวรรค 2. เสตเกตุชาดก (377)
(ฤๅษีโพธิสัตว์บอกถึงเหตุที่จะให้โภคะเจริญแก่นายเรือนั้นว่า)
[4] พ่อเรือจ้าง ท่านจงขอค่าโดยสาร
กับคนที่ยังไม่ได้ข้ามไปฝั่งโน้นก่อนซิ
เพราะว่า ใจของคนที่ข้ามฟากไปแล้วเป็นอย่างหนึ่ง
ใจของคนที่ต้องการจะข้ามฟากเป็นอีกอย่างหนึ่ง
(ฤๅษีโพธิสัตว์สอนนายเรือนั้นอีกว่า)
[5] อาตมภาพพร่ำสอนในที่ทุกสถาน
คือ ทั้งในหมู่บ้าน ในป่า ในที่ลุ่ม หรือในที่ดอน
พ่อเรือจ้าง ขอท่านอย่าโกรธเลย
(พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า)
[6] พระราชาได้พระราชทานบ้านส่วยเพราะอนุสาสนีบทใด
เพราะอนุสาสนีบทนั้นแหละ คนแจวเรือจ้างจึงได้ตบปาก1
(พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสข้อความสุดท้ายว่า)
[7] ถาดใส่อาหารก็ตกแตกแล้ว ภรรยาก็ถูกทำร้าย
และเด็กที่เกิดในครรภ์ก็แท้งตกลงมาที่ภาคพื้น
เขาไม่อาจจะให้ประโยชน์เกิดขึ้นจากโอวาทนั้นได้
เหมือนเนื้อไม่อาจจะให้ประโยชน์เกิดขึ้นจากทองคำ2
อวาริยชาดกที่ 1 จบ

2. เสตเกตุชาดก (377)
ว่าด้วยเสตเกตุดาบส
(พระโพธิสัตว์เป็นอาจารย์ทิศาปาโมกข์สอนมาณพเสตเกตุผู้เป็นหัวหน้าศิษย์ว่า)

เชิงอรรถ :
1 ตบปาก ในที่นี้หมายถึงตบปากของฤาษีโพธิสัตว์ (ขุ.ชา.อ. 5/6/5)
2 ไม่อาจจะให้ประโยชน์เกิดขึ้นจากทองคำ คือ ไม่อาจทำทองคำให้เกิดเป็นประโยชน์ได้ (ขุ.ชา.อ. 5/7/6)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :228 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [6. ฉักกนิบาต] 1. อวาริยวรรค 2. เสตเกตุชาดก (377)
[8] พ่อเอ๋ย เจ้าอย่าโกรธ เพราะความโกรธไม่ดีเลย
ทิศที่เจ้ายังไม่ได้เห็น ยังไม่ได้ยินมีอีกมาก
พ่อเสตเกตุ มารดาบิดาเป็นทิศเบื้องหน้า
พระอริยะทั้งหลายกล่าวสรรเสริญอาจารย์ว่าเป็นทิศเบื้องขวา
[9] คฤหัสถ์ถวายข้าว น้ำ และผ้า กล่าวนิมนต์ผู้ใด
แม้ผู้นั้นพระอริยะทั้งหลายย่อมเรียกว่า เป็นทิศเบื้องบน
เสตเกตุ ทิศนี้เป็นทิศที่ยอดเยี่ยม
เพราะสัตว์ทั้งหลายผู้มีทุกข์ถึงแล้วย่อมเป็นสุข
(พระราชาทรงเห็นดาบสทั้งหลายบำเพ็ญตบะผิด จึงตรัสสนทนากับปุโรหิตว่า)
[10] ชฎิลเหล่าใดนุ่งห่มหนังสัตว์ที่ขรุขระ
มีขี้ฟันเขรอะ ร่างกายสกปรก สาธยายมนต์อยู่
ชฎิลเหล่านั้นประกอบหน้าที่การงานของมนุษย์
จะรู้แจ้งโลกนี้แล้วพ้นจากอบายได้หรือ
(ปุโรหิตกราบทูลว่า)
[11] ขอเดชะพระราชา หากบุคคลถึงจะเป็นพหูสูต
กระทำแต่กรรมชั่ว ก็ชื่อว่าไม่ประพฤติธรรม
เขาแม้จะมีพระเวทตั้งพัน อาศัยความเป็นพหูสูตนั้น
แต่ไม่บรรลุจรณธรรม1 ก็พ้นจากทุกข์ไม่ได้
(เสตเกตุดาบสกล่าวกับปุโรหิตนั้นว่า)
[12] บุคคลแม้จะมีพระเวทตั้งพัน อาศัยความเป็นพหูสูตนั้น
แต่ไม่บรรลุจรณธรรม ก็พ้นจากทุกข์ไม่ได้
อาตมาเข้าใจว่า พระเวททั้งหลายเป็นสิ่งที่ไร้ผล
จรณธรรมพร้อมทั้งความสำรวม2เท่านั้นเป็นสัจจะ

เชิงอรรถ :
1 จรณธรรม ในที่นี้หมายถึงศีลและสมาบัติ 8 (ขุ.ชา.อ. 5/11/11)
2 ความสำรวม ในที่นี้เป็นชื่อของศีล (ขุ.ชา.อ. 5/12/11)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :229 }