เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [5. ปัญจกนิบาต] 2. วัณณาโรหวรรค 4. ขัขโชปนกชาดก (364)
[66] ชาติและผิวพรรณเป็นของเปล่าประโยชน์
ทราบมาว่า ศีลเท่านั้นประเสริฐสุด
บุคคลไม่มีศีล มีเพียงสุตะเท่านั้น
ย่อมไม่มีความเจริญ
[67] กษัตริย์ไม่ดำรงอยู่ในธรรม แพศย์ไม่อิงอาศัยธรรม
ชนทั้ง 2 นั้นละโลกทั้ง 2 ไปแล้วย่อมเข้าถึงทุคติ
[68] กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร จัณฑาล และคนเทขยะ
ประพฤติธรรมในโลกนี้แล้วย่อมเป็นผู้เสมอกันในเทวโลก
[69] พระเวทก็ตาม ชาติก็ตาม พวกพ้องก็ตาม
ไม่สามารถจะให้ยศและความสุขในสัมปรายภพได้
แต่ศีลของตนที่บริสุทธิ์แล้วเท่านั้น
นำความสุขมาให้ในสัมปรายภพ
สีลวีมังสชาดกที่ 2 จบ

3. หิริชาดก (363)
ว่าด้วยความละอาย
(เศรษฐีชาวกรุงพาราณสีพูดกับคนทั้งหลายว่า)
[70] บัณฑิตพึงรู้จักบุคคลผู้ไม่มีความละอาย
เกลียดชังความเป็นมิตร
กล่าวอยู่ว่า เราเป็นมิตรของท่าน
แต่ไม่เอื้อเฟื้อการงานที่เหมาะสมกับคำพูดว่า
บุคคลผู้นี้มิใช่มิตรของเรา
[71] งานใดควรทำ พึงพูดถึงแต่งานนั้นเถิด
งานใดไม่ควรทำ ก็อย่าพูดถึงงานนั้นเลย
คนไม่ทำ เอาแต่พูด บัณฑิตย่อมรู้ทัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :212 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [5. ปัญจกนิบาต] 2. วัณณาโรหวรรค 4. ขัขโชปนกชาดก (364)
[72] ผู้ใดไม่ประมาท ระแวงการทำลายมิตร
คอยจับผิดอยู่เสมอ ผู้นั้นหาใช่มิตรไม่
ส่วนผู้ใดผู้อื่นยุให้แตกกันมิได้ ไม่มีความระแวงในมิตรคนใด
อยู่อย่างปลอดภัยเหมือนบุตรที่นอนแนบอกมารดา
ผู้นั้นแหละนับว่าเป็นมิตรแท้
[73] กุลบุตรเมื่อเห็นผลและอานิสงส์
เมื่อนำธุระ1อันเป็นของบุรุษไปอยู่
ชื่อว่าย่อมบำเพ็ญฐานะที่ทำความปราโมทย์
และความสุขอันนำความสรรเสริญมาให้
[74] บุคคลดื่มรสอันเกิดเพราะความสงัด
และรสแห่งความสงบชื่อว่าดื่มรสคือปีติในธรรม
ย่อมไม่มีความกระวนกระวาย ไม่มีบาป
หิริชาดกที่ 3 จบ

4. ขัชโชปนกชาดก (364)
ว่าด้วยหิ่งห้อย
(เทวดาคุกคามพระราชาแล้วกล่าวสอนด้วยการยกขัชโชปนปัญหาดังนี้ว่า)
[75] ใครหนอ เมื่อไฟลุกโพลงอยู่ ยังเที่ยวแสวงหาไฟ
ได้เห็นหิ่งห้อยในยามราตรี กลับสำคัญว่าไฟ
[76] เขาขยี้โคมัยและหญ้าให้เป็นจุรณ
แล้วเกลี่ยลงบนหิ่งห้อยนั้น
ก็ไม่อาจจะให้ไฟลุกโพลงได้
[77] คนโง่เป็นดุจคนใบ้ แม้โดยอุบายไม่ถูกวิธีอย่างนี้ก็ไม่ได้ผล
เหมือนคนรีดนมจากเขาโคย่อมไม่ได้น้ำนม

เชิงอรรถ :
1 คำว่า ธุระ ในที่นี้ ได้แก่ ธุระ 4 คือ ทาน ศีล ภาวนา มิตรภาพ ( ขุ.ชา.อ. 4/73/415)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :213 }