เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [5. ปัญจกนิบาต] 2. วัณณาโรหวรรค 2. สีลวีมังสชาดก (362)
(ราชสีห์กล่าวตอบว่า)
[61] สุพาหุ ท่านได้กล่าวว่า
ราชสีห์ตัวมีเขี้ยวงามไม่ประเสริฐไปกว่าเรา
ด้วยผิวพรรณ ทรวดทรง ชาติ กำลังกาย
และกำลังความเพียรหรือ
[62] สุพาหุเพื่อนรัก ถ้าท่านประทุษร้ายเรา
ผู้อยู่ร่วมกับท่านอย่างนี้
บัดนี้ เราไม่พอใจที่จะอยู่ร่วมกับท่านต่อไป
[63] ผู้ใดเชื่อฟังถ้อยคำของบุคคลเหล่าอื่นอย่างจริงจัง
ผู้นั้นพึงแตกจากมิตรโดยเร็วพลัน
และพึงประสบเวรเป็นอันมาก
[64] ผู้ใดไม่ประมาท ระแวงการทำลายมิตร
คอยจับผิดอยู่เสมอ ผู้นั้นหาใช่มิตรไม่
ส่วนผู้ใด ผู้อื่นยุให้แตกกันมิได้ ไม่มีความระแวงในมิตรคนใด
อยู่อย่างปลอดภัยเหมือนบุตรที่นอนแนบอกมารดา
ผู้นั้นแหละนับว่าเป็นมิตรแท้
วัณณาโรหชาดกที่ 1 จบ

2. สีลวีมังสชาดก (362)
ว่าด้วยการทดลองศีล
(พราหมณ์โพธิสัตว์รู้ว่า ศีลสำคัญกว่าสุตะ จึงได้กราบทูลพระราชาว่า)
[65] ข้าพระองค์มีความสงสัยว่า
ศีลประเสริฐกว่า หรือสุตะประเสริฐกว่า
บัดนี้ ข้าพระองค์หมดความสงสัยแล้วว่า
ศีลนั่นแลประเสริฐกว่าสุตะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :211 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [5. ปัญจกนิบาต] 2. วัณณาโรหวรรค 4. ขัขโชปนกชาดก (364)
[66] ชาติและผิวพรรณเป็นของเปล่าประโยชน์
ทราบมาว่า ศีลเท่านั้นประเสริฐสุด
บุคคลไม่มีศีล มีเพียงสุตะเท่านั้น
ย่อมไม่มีความเจริญ
[67] กษัตริย์ไม่ดำรงอยู่ในธรรม แพศย์ไม่อิงอาศัยธรรม
ชนทั้ง 2 นั้นละโลกทั้ง 2 ไปแล้วย่อมเข้าถึงทุคติ
[68] กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร จัณฑาล และคนเทขยะ
ประพฤติธรรมในโลกนี้แล้วย่อมเป็นผู้เสมอกันในเทวโลก
[69] พระเวทก็ตาม ชาติก็ตาม พวกพ้องก็ตาม
ไม่สามารถจะให้ยศและความสุขในสัมปรายภพได้
แต่ศีลของตนที่บริสุทธิ์แล้วเท่านั้น
นำความสุขมาให้ในสัมปรายภพ
สีลวีมังสชาดกที่ 2 จบ

3. หิริชาดก (363)
ว่าด้วยความละอาย
(เศรษฐีชาวกรุงพาราณสีพูดกับคนทั้งหลายว่า)
[70] บัณฑิตพึงรู้จักบุคคลผู้ไม่มีความละอาย
เกลียดชังความเป็นมิตร
กล่าวอยู่ว่า เราเป็นมิตรของท่าน
แต่ไม่เอื้อเฟื้อการงานที่เหมาะสมกับคำพูดว่า
บุคคลผู้นี้มิใช่มิตรของเรา
[71] งานใดควรทำ พึงพูดถึงแต่งานนั้นเถิด
งานใดไม่ควรทำ ก็อย่าพูดถึงงานนั้นเลย
คนไม่ทำ เอาแต่พูด บัณฑิตย่อมรู้ทัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :212 }