เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [5. ปัญจกนิบาต] 1. มณิกุณฑลวรรค 6. การันทิยชาดก (356)
6. การันทิยชาดก (356)
ว่าด้วยการันทิยพราหมณ์
(อาจารย์เจรจากับการันทิยโพธิสัตว์ว่า)
[34] เจ้าคนเดียวรีบเกินไป ยกหินก้อนใหญ่ทิ้งลงไปที่ซอกเขาในป่า
นี่เจ้าการันทิยะ จะมีประโยชน์อะไรแก่เจ้า
ด้วยการทิ้งก้อนหินลงที่ซอกเขานี้
(การันทิยโพธิสัตว์ฟังคำของท่านแล้ว ประสงค์จะปลุกอาจารย์ให้รู้สึก จึงกล่าวว่า)
[35] กระผมเกลี่ยก้อนดินและก้อนหินลงไป
จะกระทำแผ่นดินใหญ่นี้ซึ่งมีสาครเป็นขอบเขต
ให้เรียบเสมอดังฝ่ามือ
เพราะฉะนั้น กระผมจึงทิ้งก้อนหินลงไปที่ซอกเขา
(พราหมณ์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[36] มนุษย์คนเดียวไม่สามารถทำแผ่นดินนี้ให้สม่ำเสมอดังฝ่ามือได้
นี่เจ้าการันทิยะ เราสำคัญว่า
เจ้าเมื่อปรารถนาจะทำซอกเขานี้ให้เต็ม
จะต้องละชีวโลกไปเสียก่อน
(การันทิยโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[37] ถ้ามนุษย์คนเดียวไม่สามารถจะทำแผ่นดินใหญ่ให้เสมอได้
ท่านพราหมณ์ ท่านก็เหมือนกัน จักนำมนุษย์เหล่านี้
ซึ่งมีความเห็นต่าง ๆ กันมาสู่อำนาจของตนไม่ได้
(อาจารย์ได้ฟังดังนั้นรู้ว่าตัวพลาดไปแล้ว จึงกล่าวว่า)
[38] เจ้าการันทิยะ เจ้าได้บอกข้อความที่เป็นจริงแก่เราโดยย่อ
ข้อนี้เป็นเช่นนั้น แผ่นดินนี้มนุษย์ไม่สามารถจะทำให้เสมอได้ฉันใด
มนุษย์ทั้งหลายก็ฉันนั้น
การันทิยชาดกที่ 6 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :205 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [5. ปัญจกนิบาต] 1. มณิกุณฑลวรรค 8. จูฬธัมมปาลชาดก (358)
7. ลฏุกิกชาดก (357)
ว่าด้วยนางนกไส้
(นางนกไส้ประคองปีกยืนข้างหน้าพญาช้างโพธิสัตว์แล้วกล่าวว่า)
[39] พญาช้าง ข้าพเจ้าขอไหว้ท่าน
ผู้มีกำลังเสื่อมถอยโดยกาลที่มีอายุ 60 ปี
ผู้อยู่ในป่า เป็นจ่าโขลง เพียบพร้อมด้วยยศ1
ข้าพเจ้าขอไหว้ท่านด้วยปีกทั้ง 2 ข้าง
ขอท่านอย่าได้ฆ่าลูกน้อยผู้ด้อยกำลังของข้าพเจ้า
(นางนกไส้นั้นกล่าวต้อนรับพญาช้างนั้นผู้เที่ยวไปตามลำพังเชือกเดียวว่า)
[40] พญาช้าง2 ข้าพเจ้าขอไหว้ท่านผู้เที่ยวไปผู้เดียว
อยู่ในป่า หากินตามเชิงเขา
ข้าพเจ้าขอไหว้ท่านด้วยปีกทั้ง 2 ข้าง
ขอท่านอย่าได้ฆ่าลูกน้อยผู้ด้อยกำลังของข้าพเจ้า
(พญาช้างไดัฟังคำของนางนกไส้นั้น จึงกล่าวว่า)
[41] นี่นางนกไส้ เราจะฆ่าลูกน้อยของเจ้า
เจ้ามีกำลังน้อยจะทำอะไรได้
เราจะใช้เท้าซ้ายบดขยี้นกไส้เช่นเจ้า
แม้ตั้ง 100,000 ตัวให้แหลกราญ
(นางนกไส้แอบอยู่ที่กิ่งไม้กล่าวคุกคามพญาช้างนั้นว่า)
[42] กำลังไม่ใช่ว่าจะทำกิจให้สำเร็จทุกอย่าง
เพราะว่า คนโง่เขลามีกำลังไว้เพื่อฆ่าผู้อื่นและตนเอง
พญาช้าง ข้าพเจ้าจะทำความหายนะให้แก่ท่าน
ที่ฆ่าลูกน้อยผู้ด้อยกำลังของเรา

เชิงอรรถ :
1 คำว่า ยศ หมายถึงบริวาร (ขุ.ชา.อ. 4/39/389)
2 พญาช้าง ในที่นี้ชาติต่อมาคือพระเทวทัต (ขุ.ชา.อ. 4/43/392)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :206 }