เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก
(พระราชาตรัสบอกปัญหาข้อที่ 4 ตามที่เทวดาถามว่า)
[200] บุคคลนำข้าว น้ำ ผ้า และเสนาสนะไป
พวกเขาผู้นำไปกลับเป็นที่รักโดยแท้
พวกเขากลับเป็นที่รักเพราะเหตุแห่งการนำสิ่งของไป
พระองค์ทรงเห็นว่าเป็นใคร1
เทวตาปัญหชาดกที่ 10 จบ
จูฬกุณาลวรรคที่ 5 จบ

รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

1. กุณฑลิกชาดก 2. วานรชาดก
3. กุนตินีชาดก 4. อัมพชาดก
5. คชกุมภชาดก 6. เกสวชาดก
7. อยกูฏชาดก 8. อรัญญชาดก
9. สันธิเภทชาดก 10. เทวตาปัญหชาดก

รวมวรรคที่มีในนิบาตนี้ คือ

1. กาลิงควรรค 2. ปุจิมันทวรรค
3. กุฏิทูสกวรรค 4. โกกิลวรรค
5. จูฬกุณาลวรรค

จตุกกนิบาต จบ

เชิงอรรถ :
1 มโหสธบัณฑิตโพธิสัตว์เฉลยปัญหาว่า ผู้ใช้มือเท้าทุบตีผู้อื่น คือเด็กเล็ก ๆ ผู้ถูกทุบตี คือมารดา ผู้ด่าผู้
อื่นตามชอบใจ คือมารดา ผู้ถูกด่า คือบุตร ผู้กล่าวตู่กันและกันด้วยคำไม่จริง คือคู่รักกัน ผู้ที่นำสิ่งของ
ไป คือสมณพราหมณ์ ผู้ที่พอใจให้นำไป คือทายก (ขุ.ชา.อ. 9/200/284-287)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :198 }


5. ปัญจกนิบาต
1. มณิกุณฑลวรรค
หมวดว่าด้วยต่างหูแก้วมณี
1. มณิกุณฑลชาดก (351)
ว่าด้วยต่างหูแก้วมณี
(พระราชาโจรเข้าไปหาพระราชาโพธิสัตว์แห่งกรุงพาราณสีแล้วตรัสว่า)
[1] พระองค์หมดสิ้น รถ ม้า และต่างหูแก้วมณี
อนึ่ง พระองค์หมดสิ้นพระโอรสและนางสนม
เมื่อโภคะทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีเหลืออยู่เลย
เพราะเหตุใด พระองค์ไม่ทรงเดือดร้อนในคราวที่ควรเศร้าโศก
(พระราชาโพธิสัตว์ตรัสตอบว่า)
[2] โภคะทั้งหลายละทิ้งสัตวโลกไปก่อนก็มี
สัตวโลกละทิ้งโภคะเหล่านั้นไปก่อนก็มี
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงใคร่อยู่ในกาม
โภคะทั้งหลายที่สัตว์ใช้สอยอยู่เป็นของไม่แน่นอน
เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์จึงไม่เศร้าโศกในคราวที่ควรเศร้าโศก
[3] ดวงจันทร์ขึ้นเต็มดวงแล้วก็แหว่งเว้าไป
ดวงอาทิตย์ทำโลกส่วนใหญ่ให้อบอุ่นแล้วลับขอบฟ้าไป
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงเป็นศัตรู โลกธรรมทั้งหลายข้าพระองค์ทราบดีแล้ว
เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์จึงไม่เศร้าโศกในคราวที่ควรเศร้าโศก
(พระราชาโพธิสัตว์ทรงแสดงธรรมแก่พระราชาโจรแล้วทรงติเตียนว่า)
[4] คฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเกียจคร้านไม่ดี
บรรพชิตไม่สำรวมไม่ดี
พระราชาไม่ทรงใคร่ครวญก่อนแล้วทำไม่ดี
การที่บัณฑิตโกรธไม่ดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :199 }