เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [4. จตุกกนิบาต] 5. จูฬกุณาลวรรค 6. เกสวชาดก (346)
5. คชกุมภชาดก (345)
ว่าด้วยสัตว์เลื้อยคลานชื่อคชกุมภะ
(อำมาตย์แก้วโพธิสัตว์กล่าวกับตัวคชกุมภะว่า)
[177] เจ้าตัวโยกเยก1 เจ้ามีความเชื่องช้าอย่างนี้
คราวเมื่อไฟป่าไหม้ป่า เจ้าจะทำอย่างไร
(ตัวคชกุมภะได้ฟังดังนั้น จึงตอบว่า)
[178] โพรงไม้และรอยแตกระแหงของแผ่นดินมีอยู่เป็นจำนวนมาก
ถ้าพวกข้าพเจ้าหนีเข้าไปไม่ทัน พวกข้าพเจ้าก็ตาย
(อำมาตย์โพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[179] ผู้ใดในคราวที่ควรทำช้า ๆ กลับทำงานอย่างเร็วพลัน
ในคราวที่ควรทำอย่างรีบด่วน กลับทำอย่างเชื่องช้า
ผู้นั้นย่อมหักราญประโยชน์ของตนเอง
เหมือนคนแข็งแรงเหยียบใบตาลแห้ง
[180] ผู้ใดในคราวที่ควรทำช้า ๆ ก็ค่อย ๆ ทำงานอย่างช้า ๆ
ในคราวที่ควรทำรีบด่วน ก็รีบทำอย่างเร็วพลัน
ประโยชน์ของผู้นั้นก็บริบูรณ์
เหมือนดวงจันทร์กำจัดความมืด ยังราตรีให้สว่างอยู่
คชกุมภชาดกที่ 5 จบ

6. เกสวชาดก (346)
ว่าด้วยเกสวดาบส
(นารทอำมาตย์กล่าวกับเกสวดาบสว่า)

เชิงอรรถ :
1 เป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง รูปร่างคล้ายกระพองช้าง เมื่อจะเดินต้องโยกตัวก่อน หรือโยกตัวอยู่บ่อย ๆ จึงเรียก
ตัวโยกเยก (ขุ.ชา.อ. 4/177/351)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :193 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [4. จตุกกนิบาต] 5. จูฬกุณาลวรรค 8. อรัญญชาดก (348)
[181] ทำไมหนอ เกสวดาบสผู้มีโชคจึงได้ละพระเจ้ากรุงพาราณสี
ผู้เป็นจอมมนุษย์ ผู้ยังความประสงค์ทั้งปวงให้สำเร็จได้
กลับมายินดีอยู่ในอาศรมของกัปปดาบส
(เกสวดาบสกล่าวว่า)
[182] ท่านนารทอำมาตย์ สถานที่อันน่ารื่นรมย์
ซึ่งให้สำเร็จประโยชน์ได้มีอยู่ หมู่ไม้อันน่ารื่นรมย์ใจก็มีอยู่
แต่ถ้อยคำอันเป็นสุภาษิตของกัปปดาบส
ย่อมทำให้เรารื่นรมย์ยินดี
(นารทอำมาตย์กล่าวว่า)
[183] พระคุณเจ้าบริโภคข้าวสาลีสุก สะอาด ปรุงด้วยเนื้อ
เหตุไฉนข้าวฟ่างและลูกเดือยอันหารสชาติมิได้
จึงทำให้พระคุณเจ้าพอใจ
(เกสวดาบสกล่าวว่า)
[184] โภชนะจะดีหรือไม่ดี จะน้อยหรือมากก็ตาม
บุคคลผู้มีความคุ้นเคยกันบริโภคในที่ใด
โภชนะที่บริโภคแล้วในที่นั้น เป็นของดีทั้งนั้น
เพราะรสทั้งหลายมีความคุ้นเคยเป็นอย่างยิ่ง
เกสวชาดกที่ 6 จบ

7. อยกูฏชาดก (347)
ว่าด้วยยักษ์ถือพะเนินเหล็กใหญ่
(พระราชาโพธิสัตว์ตรัสกับยักษ์ว่า)
[185] วันนี้ท่านที่ถือพะเนินเหล็กล้วน ๆ ใหญ่เหลือประมาณ
ยืนอยู่กลางอากาศ ถูกเขาแต่งตั้งมาเพื่อคุ้มครองรักษาข้าพเจ้า
หรือว่าพยายามจะฆ่าข้าพเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :194 }