เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [4. จตุกกนิบาต] 5. จูฬกุณาลวรรค 1. กุณฑลิกชาดก (341)
9. พาเวรุชาดก (339)
ว่าด้วยความเสื่อมลาภของกาในแคว้นพาเวรุ
(พระศาสดาทรงประมวลอดีตนิทานมาแล้ว ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า)
[153] เพราะยังไม่เห็นนกยูงที่มีหงอน มีเสียงอันไพเราะ
ประชาชนในแคว้นพาเวรุนั้นได้พากันบูชากาด้วยเนื้อและผลไม้
[154] แต่เมื่อใดนกยูงที่มีเสียงไพเราะมายังแคว้นพาเวรุ
เมื่อนั้นลาภและสักการะของกาก็เสื่อมถอยไป
[155] ตราบใดพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระธรรมราชา
ผู้ทำโลกให้สว่างไสวยังมิได้อุบัติขึ้น ตราบนั้น
ประชาชนก็พากันบูชาสมณะและพราหมณ์เหล่าอื่นจำนวนมาก
[156] แต่เมื่อใดพระพุทธเจ้าผู้มีพระสุรเสียงไพเราะทรงแสดงธรรม
เมื่อนั้นลาภสักการะของพวกเดียรถีย์ก็เสื่อมไป
พาเวรุชาดกที่ 9 จบ

10. วิสัยหชาดก (340)
ว่าด้วยวิสัยหเศรษฐี
(ท้าวสักกะเสด็จมายืนอยู่ในอากาศ ได้ตรัสกับวิสัยหเศรษฐีโพธิสัตว์ว่า)
[157] ท่านวิสัยหเศรษฐี เมื่อก่อนท่านได้ให้ทาน
ก็เมื่อท่านให้ทานอยู่อย่างนั้น โภคะทั้งหลายของท่าน
ก็สิ้นไปเป็นธรรมดา ตั้งแต่นี้ไป ถ้าท่านจะไม่พึงให้ทาน
โภคะทั้งหลายของท่านผู้งดให้ทานก็จะพึงดำรงอยู่
(วิสัยหเศรษฐีโพธิสัตว์ได้ฟังแล้ว จึงกล่าวว่า)
[158] ท้าวสหัสสเนตร พระอริยะทั้งหลายกล่าวอนารยธรรมว่า
เป็นกิจที่อริยชนหรือแม้คนยากจนไม่ควรทำ
ท่านจอมชน เราพึงสละศรัทธาเพราะเหตุแห่งการบริโภคทรัพย์ใด
ขอทรัพย์นั้นอย่าพึงเกิดแก่เราเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :188 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [4. จตุกกนิบาต] 5. จูฬกุณาลวรรค 1. กุณฑลิกชาดก (341)
[159] รถคันหนึ่งแล่นไปทางใด รถคันอื่นก็จะแล่นไปทางนั้น
ท้าววาสวะ ธรรมเนียมที่ได้ประพฤติปฏิบัติมาแต่ก่อน
ขอจงดำเนินต่อไปเถิด
[160] ถ้ายังมียังเป็นอยู่ก็จะให้เรื่อยไป
เมื่อไม่มีชีวิตจะให้อย่างไร
ข้าพเจ้าแม้มีสภาพอย่างนี้ ก็ยังจะให้
ข้าพเจ้าจะไม่ลืมการให้เลย
วิสัยหชาดกที่ 10 จบ
โกกิลวรรคที่ 4 จบ

รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

1. โกกิลชาดก 2. รถลัฏฐิชาดก
3. โคธชาดก 4. ราโชวาทชาดก
5. ชัมพุกชาดก 6. พรหมฉัตตชาดก
7. ปีฐชาดก 8. ถุสชาดก
9. พาเวรุชาดก 10. วิสัยหชาดก

5. จูฬกุณาลวรรค
หมวดว่าด้วยนกกุณาละหมวดสั้น
1. กุณฑลิกชาดก (341)
ว่าด้วยกุณฑลิกราชา
(ในเรื่องที่พญานกกุณาละพูดกับนกปุณณมุขะนี้มีคาถาประพันธ์ไว้อีกส่วนหนึ่งว่า)
[161] บรรดาพวกผู้หญิงที่ทำความรื่นรมย์ให้แก่พวกผู้ชาย
เป็นคนหลายใจ ไม่มีใครจะบังคับได้
แม้ถ้าว่าพวกนางจะพึงทำให้เกิดความพอใจในที่ทั้งปวง
ก็ไม่ควรไว้ใจ เพราะว่าพวกผู้หญิงเปรียบเสมือนท่าน้ำ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :189 }