เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [4. จตุกกนิบาต] 4. โกกิลวรรค 8. ถุสชาดก (338)
(เศรษฐีได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[147] พวกข้าพเจ้าถวายอาสนะ น้ำดื่ม
และน้ำมันทาเท้า ทุกสิ่งทุกเมื่อ
นี้เป็นหน้าที่ในตระกูลครั้งปู่ย่าตายายของข้าพเจ้า
[148] พวกข้าพเจ้าบำรุงสมณะและพราหมณ์โดยเคารพ
ในกาลทุกเมื่อเหมือนญาติผู้ใหญ่
นี้เป็นธรรมในตระกูลครั้งบิดาและปู่ของข้าพเจ้า
ปีฐชาดกที่ 7 จบ

8. ถุสชาดก (338)
ว่าด้วยหนูไม่กินแกลบ
(ในเวลาที่พระโอรสมีพระชนมายุ 16 พรรษา ขณะที่กำลังเสวยพระกระยาหารเย็น
พระราชาแห่งกรุงพาราณสีตรัสกับพระโอรสว่า)
[149] แกลบก็ปรากฏโดยความเป็นแกลบ
และข้าวสารก็ปรากฏโดยความเป็นข้าวสารแก่หนูทั้งหลาย
แต่พวกหนูเว้นแกลบเสียแล้วเคี้ยวกินเฉพาะข้าวสารเท่านั้น
(ในเวลามีการเข้าเฝ้าเป็นการใหญ่ พระราชาตรัสว่า)
[150] การปรึกษากันในป่าก็ดี การกระซิบกันในบ้านก็ดี
การวางแผนฆ่าเราก็ดี ทั้งหมดนั้นเรารู้แล้ว
(ครั้นพระราชาประทับยืนอยู่ที่หัวบันได ก็ตรัสว่า)
[151] ได้ยินว่า พ่อของลิงกัดผล(ลูกอัณฑะ)ของลูกลิง
ที่เกิดตามธรรมชาติเสียตั้งแต่ยังเล็กอยู่
(พระราชาประทับยืนที่ธรณีประตู ตรัสอีกว่า)
[152] การที่เจ้ากระสับกระส่ายอยู่เหมือนแพะตาบอดในไร่ผักกาด
และเจ้านอนอยู่ใต้แท่นบรรทม ทั้งหมดนั้นเรารู้แล้ว
ถุสชาดกที่ 8 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :187 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [4. จตุกกนิบาต] 5. จูฬกุณาลวรรค 1. กุณฑลิกชาดก (341)
9. พาเวรุชาดก (339)
ว่าด้วยความเสื่อมลาภของกาในแคว้นพาเวรุ
(พระศาสดาทรงประมวลอดีตนิทานมาแล้ว ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า)
[153] เพราะยังไม่เห็นนกยูงที่มีหงอน มีเสียงอันไพเราะ
ประชาชนในแคว้นพาเวรุนั้นได้พากันบูชากาด้วยเนื้อและผลไม้
[154] แต่เมื่อใดนกยูงที่มีเสียงไพเราะมายังแคว้นพาเวรุ
เมื่อนั้นลาภและสักการะของกาก็เสื่อมถอยไป
[155] ตราบใดพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระธรรมราชา
ผู้ทำโลกให้สว่างไสวยังมิได้อุบัติขึ้น ตราบนั้น
ประชาชนก็พากันบูชาสมณะและพราหมณ์เหล่าอื่นจำนวนมาก
[156] แต่เมื่อใดพระพุทธเจ้าผู้มีพระสุรเสียงไพเราะทรงแสดงธรรม
เมื่อนั้นลาภสักการะของพวกเดียรถีย์ก็เสื่อมไป
พาเวรุชาดกที่ 9 จบ

10. วิสัยหชาดก (340)
ว่าด้วยวิสัยหเศรษฐี
(ท้าวสักกะเสด็จมายืนอยู่ในอากาศ ได้ตรัสกับวิสัยหเศรษฐีโพธิสัตว์ว่า)
[157] ท่านวิสัยหเศรษฐี เมื่อก่อนท่านได้ให้ทาน
ก็เมื่อท่านให้ทานอยู่อย่างนั้น โภคะทั้งหลายของท่าน
ก็สิ้นไปเป็นธรรมดา ตั้งแต่นี้ไป ถ้าท่านจะไม่พึงให้ทาน
โภคะทั้งหลายของท่านผู้งดให้ทานก็จะพึงดำรงอยู่
(วิสัยหเศรษฐีโพธิสัตว์ได้ฟังแล้ว จึงกล่าวว่า)
[158] ท้าวสหัสสเนตร พระอริยะทั้งหลายกล่าวอนารยธรรมว่า
เป็นกิจที่อริยชนหรือแม้คนยากจนไม่ควรทำ
ท่านจอมชน เราพึงสละศรัทธาเพราะเหตุแห่งการบริโภคทรัพย์ใด
ขอทรัพย์นั้นอย่าพึงเกิดแก่เราเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :188 }