เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [4. จตุกกนิบาต] 4. โกกิลวรรค 6. พรหาฉัตตชาดก (336)
5. ชัมพุกชาดก (335)
ว่าด้วยสุนัขจิ้งจอกชัมพุกะอวดเก่ง
(ราชสีห์โพธิสัตว์สอนสุนัขจิ้งจอกว่า)
[137] ชัมพุกะ ช้างนั้นมีร่างกายสูงใหญ่และมีงายาว
เจ้าไม่ได้เกิดในตระกูลของราชสีห์ที่สามารถจับช้างได้
(ราชสีห์โพธิสัตว์ยืนอยู่บนยอดภูเขา เห็นสุนัขจิ้งจอกถึงความพินาศ จึงกล่าวว่า)
[138] สัตว์ใดมิใช่ราชสีห์ ทำท่าทางเหมือนราชสีห์
สัตว์นั้นจะเป็นเหมือนสุนัขจิ้งจอกถูกช้างเหยียบแล้ว
นอนทอดอาลัยอยู่บนแผ่นดิน
[139] ผู้ใดไม่รู้กำลังกาย กำลังปัญญา
และกำเนิดของบุคคลผู้มียศ ผู้สูงสุด
มีร่างกายใหญ่และมั่นคง มีกำลังมาก
ผู้นั้นก็เหมือนชัมพุกะที่ถูกช้างฆ่านอนตายอยู่
[140] ส่วนผู้ใดในโลกนี้รู้กำลังกายและกำลังปัญญาในตน
พิจารณาด้วยความรู้ที่ได้เล่าเรียนศึกษามา
และด้วยคำสุภาษิต ประมาณตนแล้วจึงทำการงาน
ผู้นั้นย่อมมีชัยอย่างไพบูลย์
ชัมพุกชาดกที่ 5 จบ

6. พรหาฉัตตชาดก (336)
ว่าด้วยพระกุมารชื่อพรหาฉัตต์
(พระโพธิสัตว์กราบทูลพระราชาในเวลาที่ทรงบ่นเพ้อว่า)
[141] พระองค์ทรงบ่นอยู่ว่า หญ้า หญ้า
ใครหนอนำหญ้ามาถวายพระองค์
พระองค์มีกิจที่จะพึงทำด้วยหญ้าหรือหนอ
จึงตรัสแต่คำว่า หญ้า หญ้า เท่านั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :185 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [4. จตุกกนิบาต] 4. โกกิลวรรค 8. ถุสชาดก (338)
(พระราชาทรงสดับดังนั้น จึงตรัสว่า)
[142] ฉัตตฤๅษีนั้นมีร่างกายสูง เป็นพรหมจารี เป็นพหูสูต
มาแล้วที่นี้ ลักเอาทรัพย์ทั้งหมดของเราไป
ใส่หญ้าไว้ในตุ่มแทนแล้วหนีไป
(พระโพธิสัตว์กราบทูลว่า)
[143] ผู้ต้องการใช้หญ้ามีค่าน้อยแลกทรัพย์จำนวนมาก
ย่อมต้องกระทำอย่างนี้ คือ ถือเอาทรัพย์ของตน
แต่ไม่ถือเอาหญ้าซึ่งไม่ควรถือเอา
การพิไรรำพันในเรื่องนั้นจะมีประโยชน์อะไร
(พระราชาทรงสดับดังนั้น จึงตรัสว่า)
[144] คนมีศีลไม่กระทำเช่นนั้น
คนพาลทำเช่นนั้นเป็นปกติ
ทำไมหนอจะทำคนที่มีศีลไม่มั่นคง
ซึ่งเป็นคนทุศีลให้เป็นบัณฑิตได้
พรหมฉัตตชาดกที่ 6 จบ

7. ปีฐชาดก (337)
ว่าด้วยเศรษฐีถวายตั่งตามตระกูล
(เศรษฐีกรุงพาราณสีได้กล่าวกับดาบสโพธิสัตว์ว่า)
[145] ข้าพเจ้ามิได้ถวายตั่ง น้ำดื่ม
และโภชนาหารแด่พระคุณเจ้า
ท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์
ขอพระคุณเจ้าจงยกโทษให้ข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าเห็นโทษนั้นอยู่
(พระดาบสโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[146] อาตมามิได้ติดใจ มิได้โกรธเคือง
และมิได้มีความไม่พอใจแม้แต่น้อย
อนึ่ง แม้อาตมาก็ยังคิดคำนึงในใจอยู่ว่า
หน้าที่ในตระกูลเป็นเช่นนี้แน่นอน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :186 }