เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [4. จตุกกนิบาต] 4. โกกิลวรรค 3. โคธชาดก (333)
[123] เพราะฉะนั้น บัณฑิตควรรักษาวาจาไว้
ทั้งในเวลาที่ควรพูดและไม่ควรพูด
ไม่ควรพูดให้เกินเวลาแม้ในบุคคลผู้เสมอกับตน
[124] ส่วนผู้ใดมีความคิดเป็นเบื้องหน้า มีปัญญาเครื่องพิจารณา
เห็นประจักษ์ พูดพอเหมาะกับกาลเวลา
ผู้นั้นย่อมจับศัตรูทั้งหมดไว้ได้ดุจนกครุฑจับนาคได้
โกกิลชาดกที่ 1 จบ

2. รถลัฏฐิชาดก (332)
ว่าด้วยปุโรหิตโกรธประหารผู้อื่นด้วยปะฏัก
(อำมาตย์ผู้พิพากษาโพธิสัตว์ กราบทูลพระราชาว่า)
[125] ข้าแต่มหาราช คนบางคนทำร้ายตนเอง
กลับพูดว่า ถูกทำร้าย
ตนเองชนะ กลับพูดว่า ตนแพ้
ดังนั้น ไม่ควรเชื่อคนที่เป็นโจทก์ฝ่ายเดียว
[126] เพราะฉะนั้น บุคคลผู้เป็นชาติบัณฑิตควรฟังฝ่ายจำเลยบ้าง
เมื่อฟังคำของทั้ง 2 ฝ่ายแล้วควรตัดสินโดยธรรม
[127] คฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเกียจคร้านไม่ดี
บรรพชิตไม่สำรวมไม่ดี
พระราชาไม่ทรงใคร่ครวญก่อนแล้วทำไม่ดี
การที่บัณฑิตโกรธไม่ดี
[128] ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นเจ้าแห่งทิศ
กษัตริย์ทรงใคร่ครวญก่อนแล้วจึงควรทำ
ไม่ทรงใคร่ครวญก่อนแล้วไม่ควรตัดสิน
ยศและเกียรติย่อมเจริญแด่พระราชาผู้ทรงใคร่ครวญก่อนแล้วจึงทำ
รถลัฏฐิชาดกที่ 2 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :182 }