เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [4. จตุกกนิบาต] 1. กาลิงควรรค 9. ฉวชาดก (309)
[28] ไม้เลียบต้นใดขึ้นอยู่เบื้องหน้าต้นมะพลับ
เขาล้อมรั้วไว้แล้ว เป็นที่บูชากันมาก่อน เป็นต้นไม้ใหญ่
ขุมทรัพย์ฝังไว้ที่โคนต้นไม้เลียบนั้นไม่มีเจ้าของมีอยู่
ท่านจงไปขุดเอาขุมทรัพย์นั้นเถิด
ปลาสชาดกที่ 7 จบ

8. ชวสกุณชาดก (308)
ว่าด้วยราชสีห์ไม่รู้คุณนกหัวขวาน
(นกหัวขวานโพธิสัตว์กล่าวกับราชสีห์ว่า)
[29] พญาเนื้อ ข้าพเจ้าขอนอบน้อมท่าน
ข้าพเจ้าได้กระทำกิจอย่างหนึ่งแก่ท่านตามกำลังที่ตนมีอยู่
ข้าพเจ้าจะได้อะไรเป็นเครื่องตอบแทนบ้าง
(ราชสีห์กล่าวว่า)
[30] เจ้าอยู่ในระหว่างฟันของเราผู้มีเลือดเป็นอาหาร
ผู้กระทำกรรมโหดร้ายอยู่เป็นนิตย์
การรอดชีวิตไปได้ก็นับว่าเป็นบุญอย่างใหญ่หลวง
(นกหัวขวานโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[31] ผู้ไม่รู้อุปการคุณที่ผู้อื่นทำแล้ว
ผู้ที่ไม่เคยทำความดีอย่างใดอย่างหนึ่งแก่ใคร
ผู้ที่ไม่ตอบแทนอุปการคุณที่ผู้อื่นทำให้แล้ว
น่าตำหนิ ความกตัญญูไม่มีในผู้ใด
การคบหาผู้นั้นก็ไร้ประโยชน์
[32] แม้ด้วยอุปการคุณที่กระทำต่อหน้า
มิตรธรรมยังหาไม่ได้ในบุคคลใด
บัณฑิตไม่ริษยา ไม่ด่าว่าบุคคลนั้น
พึงค่อย ๆ หลีกห่างจากเขาไปเสีย
ชวสกุณชาดกที่ 8 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :162 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [4. จตุกกนิบาต] 1. กาลิงควรรค 9. ฉวชาดก (309)
9. ฉวชาดก (309)
ว่าด้วยการนั่งเรียนมนต์ไม่เหมาะสมเหมือนเรียนกับศพ
(คนจัณฑาลโพธิสัตว์ไปลักมะม่วงในพระราชอุทยาน เห็นพระราชานั่งในที่สูง
เรียนมนต์ ปุโรหิตนั่งในที่ต่ำสอนมนต์ จึงลงจากต้นมะม่วงมาตำหนิ ถูกพระราชา
ตรัสถามแล้ว จึงกราบทูลว่า)
[33] กิจที่เราทั้ง 3 กระทำขึ้นนี้ทั้งหมดไม่ชอบธรรม
เพราะคนทั้ง 2 ไม่เห็นธรรมเนียม
จึงเคลื่อนคลาดจากธรรมเนียมเดิม
อาจารย์ผู้สอนมนต์นั่งต่ำ
และศิษย์ผู้เรียนมนต์นั่งสูง
(ปุโรหิตกล่าวว่า)
[34] เราบริโภคข้าวสาลีสุก สะอาด ปรุงด้วยเนื้อ
เพราะฉะนั้น เราจึงไม่ประพฤติธรรม
ที่ฤๅษีทั้งหลายประพฤติกัน
(พระโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[35] ท่านจงหลีกไป โลกนี้ยังกว้างใหญ่
แม้คนอื่นในชมพูทวีปก็ยังหุงข้าวกินกันอยู่
เพราะเหตุนั้น ขออธรรมที่ท่านได้ประพฤติมาแล้ว
อย่าได้ทำลายท่านเหมือนหินทำลายหม้อเลย
[36] พราหมณ์ น่าติเตียนการได้ยศ
และการได้ทรัพย์สำหรับเลี้ยงชีวิต
ซึ่งเป็นเหตุให้ประสบความพินาศ
และประพฤติผิดธรรม
ฉวชาดกที่ 9 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :163 }