เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [4. จตุกกนิบาต] 1. กาลิงควรรค 5. สีลวีมังสชาดก (305)
[8] ผู้ใดได้ทำคุณงามความดีไว้ก่อน
ผู้นั้นชื่อว่าได้ทำสิ่งที่ทำได้ยากยิ่งในโลก
ภายหลังเขาจะทำหรือไม่ทำก็ตามที
ชื่อว่าเป็นผู้ควรแก่การบูชาอย่างยิ่ง
มหาอัสสาโรหชาดกที่ 2 จบ

3. เอกราชชาดก (303)
ว่าด้วยพระเจ้าเอกราช
(พระเจ้าทุพภิเสนทรงขอโทษพระเจ้าเอกราชแล้ว ตรัสว่า)
[9] ข้าแต่พระเจ้าเอกราช เมื่อก่อนพระองค์เสวยกามคุณ
ที่สมบูรณ์ยอดเยี่ยม มาบัดนี้พระองค์ถูกโยนลงในหลุมอันขรุขระ
ก็ยังไม่ทรงละพระฉวีวรรณและพระกำลังอันมีอยู่แต่ก่อน
(พระเจ้าเอกราชผู้เป็นพระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงตรัสว่า)
[10] พระเจ้าทุพภิเสน เมื่อก่อนหม่อมฉันมีขันติ
และตบะสมปรารถนามาแล้ว
หม่อมฉันได้ขันติและตบะนั้นแล้ว
จะพึงละฉวีวรรณและกำลังอันมีอยู่แต่ก่อนทำไมเล่า
[11] พระองค์ผู้เรืองยศ ปรากฏพระปรีชาญาณ
ทรงทนทานเป็นพิเศษ ทราบว่า กรณียกิจทุกอย่าง
หม่อมฉันได้ทำสำเร็จเรียบร้อยแล้ว
ทั้งยังได้ยศที่สูงส่งที่ไม่เคยได้มาก่อน
เพราะเหตุไรจะพึงละฉวีวรรณและกำลังอันมีอยู่แต่ก่อนเสียเล่า
[12] พระองค์ผู้จอมชน หม่อมฉันบรรเทาความสุข
ด้วยความทุกข์ และข่มความทุกข์ด้วยความสุข
สัตบุรุษเช่นหม่อมฉันวางตนเป็นกลางในความสุขและความทุกข์
เพราะมีความเยือกเย็นในภาวะทั้ง 2 นั้น
เอกราชชาดกที่ 3 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :158 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [4. จตุกกนิบาต] 1. กาลิงควรรค 5. สีลวีมังสชาดก (305)
4. ทัททรชาดก (304)
ว่าด้วยนาคทัททระ
(นาคจูฬทัททระอดทนความดูหมิ่นไม่ได้ จึงพูดกับนาคผู้เป็นพี่ชายว่า)
[13] เจ้าพี่ทัททระ วาจาอันหยาบคายในมนุษยโลกเหล่านี้
ทำให้หม่อมฉันเดือดร้อน
พวกเด็กชาวบ้านไม่มีพิษนี้ ด่าหม่อมฉันผู้มีพิษร้ายว่า
พวกสัตว์กินกบกินเขียด พวกสัตว์น้ำ
(นาคมหาทัททรโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[14] บุคคลผู้ถูกขับไล่จากบ้านเมืองของตนไปอยู่ถิ่นอื่น
พึงสร้างฉางใหญ่ไว้เก็บคำพูดที่หยาบคาย
[15] สถานที่ใด ประชาชนไม่รู้จักสัตว์โดยชาติ หรือโดยวินัย
สถานที่นั้น เขาเมื่ออยู่ในกลุ่มชนที่ไม่มีใครรู้จักเลย ไม่ควรมีมานะ
[16] ผู้มีปัญญาแม้จะเปรียบด้วยไฟป่า เมื่ออยู่ยังต่างถิ่น
ก็ควรอดทนถ้อยคำคุกคามแม้ของผู้เป็นทาส
ทัททรชาดกที่ 4 จบ

5. สีลวีมังสชาดก (305)
ว่าด้วยการทดลองศีล
(พราหมณ์โพธิสัตว์กล่าวกับอาจารย์ว่า)
[17] ขึ้นชื่อว่าสถานที่ลับสำหรับกระทำกรรมชั่วไม่มีอยู่ในโลก
ต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ในป่าก็ยังมีคนเห็น
คนพาลสำคัญอยู่ว่า กรรมชั่วนั้นเราได้ทำในสถานที่ลับ
[18] ข้าพเจ้าไม่พบสถานที่ลับ แม้สถานที่ว่างก็ไม่มี
ในสถานที่ใด ข้าพเจ้ายังไม่รู้ว่าว่าง
แม้สถานที่นั้น ก็ไม่ว่างจากข้าพเจ้า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :159 }