เมนู

1. กาลิงควรรค 2. มหาอัสสาโรหชาดก (302)
(ท้าวสักกะทรงสดับดังนั้น จึงตรัสว่า)
[4] พราหมณ์ ท่านเคยฟังมาแล้วมิใช่หรือ เขากล่าวกันว่า
เทวดาทั้งหลายกีดกันความบากบั่นของคนไว้ไม่ได้
การฝึกตนก็ดี ความตั้งใจไว้อย่างมั่นคงก็ดี
ความมีใจไม่แตกแยกก็ดี ความไม่ท้อถอยก็ดี
การรุกในเวลาที่ควรรุกก็ดี ความเพียรอันมั่นคงก็ดี
ความบากบั่นของคนก็ดี ได้มีแก่พระเจ้าอัสสกะ
เพราะเหตุนั้นแหละ ชัยชนะจึงได้มีแก่พระเจ้าอัสสกะ
จูฬกาลิงคชาดกที่ 1 จบ

2. มหาอัสสาโรหชาดก (302)
ว่าด้วยพระเจ้ามหาอัสสาโรหะ
(พระราชาโพธิสัตว์แสดงธรรมแก่พระโอรสว่า)
[5] ผู้ใดเมื่อให้ทานในบุคคลที่ไม่ควรจะให้
ไม่ให้ในบุคคลที่ควรจะให้
ผู้นั้นแม้ประสบทุกข์ในคราวมีอันตราย
ก็หาเพื่อนช่วยเหลือไม่ได้
[6] ผู้ใดเมื่อไม่ให้ทานในบุคคลที่ไม่ควรจะให้
ให้ทานในบุคคลที่ควรจะให้
ผู้นั้นแม้ประสบทุกข์ในคราวมีอันตราย
ก็ได้เพื่อนที่จะช่วยเหลือ
[7] การแสดงคุณวิเศษแห่งการเกี่ยวข้องผูกพันกันฉันมิตร
ในชนทั้งหลายผู้ไม่เป็นพระอริยะ โอ้อวด ย่อมจะไร้ผล
ส่วนการแสดงคุณวิเศษแห่งการเกี่ยวข้องเป็นต้นนั้นแม้เล็กน้อย
ซึ่งบุคคลกระทำแล้วในชนทั้งหลาย ผู้เป็นพระอริยะ
ซื่อตรงและคงที่ ย่อมมีผลมาก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :157 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [4. จตุกกนิบาต] 1. กาลิงควรรค 5. สีลวีมังสชาดก (305)
[8] ผู้ใดได้ทำคุณงามความดีไว้ก่อน
ผู้นั้นชื่อว่าได้ทำสิ่งที่ทำได้ยากยิ่งในโลก
ภายหลังเขาจะทำหรือไม่ทำก็ตามที
ชื่อว่าเป็นผู้ควรแก่การบูชาอย่างยิ่ง
มหาอัสสาโรหชาดกที่ 2 จบ

3. เอกราชชาดก (303)
ว่าด้วยพระเจ้าเอกราช
(พระเจ้าทุพภิเสนทรงขอโทษพระเจ้าเอกราชแล้ว ตรัสว่า)
[9] ข้าแต่พระเจ้าเอกราช เมื่อก่อนพระองค์เสวยกามคุณ
ที่สมบูรณ์ยอดเยี่ยม มาบัดนี้พระองค์ถูกโยนลงในหลุมอันขรุขระ
ก็ยังไม่ทรงละพระฉวีวรรณและพระกำลังอันมีอยู่แต่ก่อน
(พระเจ้าเอกราชผู้เป็นพระโพธิสัตว์ได้ฟังดังนั้น จึงตรัสว่า)
[10] พระเจ้าทุพภิเสน เมื่อก่อนหม่อมฉันมีขันติ
และตบะสมปรารถนามาแล้ว
หม่อมฉันได้ขันติและตบะนั้นแล้ว
จะพึงละฉวีวรรณและกำลังอันมีอยู่แต่ก่อนทำไมเล่า
[11] พระองค์ผู้เรืองยศ ปรากฏพระปรีชาญาณ
ทรงทนทานเป็นพิเศษ ทราบว่า กรณียกิจทุกอย่าง
หม่อมฉันได้ทำสำเร็จเรียบร้อยแล้ว
ทั้งยังได้ยศที่สูงส่งที่ไม่เคยได้มาก่อน
เพราะเหตุไรจะพึงละฉวีวรรณและกำลังอันมีอยู่แต่ก่อนเสียเล่า
[12] พระองค์ผู้จอมชน หม่อมฉันบรรเทาความสุข
ด้วยความทุกข์ และข่มความทุกข์ด้วยความสุข
สัตบุรุษเช่นหม่อมฉันวางตนเป็นกลางในความสุขและความทุกข์
เพราะมีความเยือกเย็นในภาวะทั้ง 2 นั้น
เอกราชชาดกที่ 3 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :158 }