เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [3. ติกนิบาต] 3. อุทปานวรรค 9. สตปัตตชาดก (279)
7. โรมชาดก (277)
ว่าด้วยดาบสลวงนกพิราบโรมะ
(ดาบสโกงคิดจะลวงจับนกพิราบกิน จึงได้กล่าว 2 คาถาว่า)
[79] โรมกะ เราอยู่ในถ้ำศิลามา 50 กว่าปี
เมื่อก่อนนกทั้งหลายไม่หวาดระแวง
ไว้ใจจึงบินมาเกาะที่มือเรา
[80] วักกังคะ คราวนี้ทำไม
นกเหล่านั้นจึงพยายามหนีไปอยู่ซอกเขาแห่งอื่น
นกทั้งหลายไม่นับถือเราเหมือนเมื่อก่อนกระมัง
หรือจากไปเสียนาน จึงจำเราไม่ได้
หรือนกพวกนี้มิใช่นกพวกนั้น
(นกพิราบโพธิสัตว์ได้ยินดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[81] พวกเราจำท่านได้ดี ไม่ลืมหรอก
ท่านก็คือดาบสรูปนั้นแหละ พวกเราก็ไม่ใช่นกพวกอื่น
แต่จิตของท่านประทุษร้ายในสัตว์เหล่านี้
ท่านอาชีวก เพราะเหตุนั้น พวกเราจึงกลัวท่าน
โรมชาดกที่ 7 จบ

8. มหิสชาดก (278)
ว่าด้วยลิงกับกระบือ
(รุกขเทวดาได้กล่าวกับกระบือโพธิสัตว์ว่า)
[82] เพราะมุ่งหมายประโยชน์อะไรต่อลิงผู้มีจิตกลับกลอก
มีปกติประทุษร้ายมิตร ท่านจึงอดกลั้นทุกข์นี้ไว้
เหมือนคนอดกลั้นต่อเจ้านาย
ผู้ให้สิ่งที่ต้องการได้ทุกอย่าง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :138 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [3. ติกนิบาต] 3. อุทปานวรรค 9. สตปัตตชาดก (279)
[83] ท่านจงขวิดมัน จงเหยียบมัน
ถ้าไม่ปรามมันไว้บ้าง
พวกสัตว์โง่ก็จะพึงเบียดเบียนหนักข้อขึ้น
(กระบือโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[84] ก็เมื่อเจ้าลิงตัวนี้เข้าใจว่ากระบือตัวอื่นเหมือนข้าพเจ้า
จักกระทำอนาจารอย่างนี้
กระบือเหล่านั้นก็จักฆ่ามันเสียในที่นั้น
ข้าพเจ้าจักพ้นจากปาณาติบาต
มหิสชาดกที่ 8 จบ

9. สตปัตตชาดก (279)
ว่าด้วยมาณพเข้าใจผิดนกกระไน
(พระศาสดาทรงนำอดีตนิทานมาแสดงแล้ว ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า)
[85] นางสุนัขจิ้งจอกซึ่งเที่ยวไปในป่าปรารถนาดี
ประกาศให้รู้ในหนทาง
มาณพเข้าใจว่าเป็นผู้ไม่ปรารถนาดี
แต่เข้าใจนกกระไนผู้ไม่ปรารถนาดีว่า
เป็นผู้ปรารถนาดี ฉันใด
[86] บุคคลบางคนในโลกนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน
เมื่อผู้หวังดีกล่าวสอน ก็ไม่รับคำสอน
[87] อนึ่ง ชนเหล่าใดสรรเสริญบุคคลนั้น
หรือยกย่องบุคคลนั้น เพราะความกลัว
เขาย่อมเข้าใจบุคคลนั้นว่าเป็นมิตร
เหมือนมาณพเข้าใจนกกระไน
สตปัตตชาดกที่ 9 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :139 }