เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [3. ติกนิบาต] 3. อุทปานวรรค 3. กัจฉปชาดก (273)
[65] เพราะการคบหากับมิตรใด ความปลอดภัยเพิ่มพูนมากขึ้น
บัณฑิตควรทำการช่วยเหลือในกิจทุกอย่างของมิตรนั้น
ให้เหมือนกับทำให้กับตนเอง
(พระโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[66] มาเถิดราชสีห์และเสือ พวกเจ้าจงกลับไปยังป่าใหญ่
ขอมนุษย์อย่าโค่นป่าที่ปราศจากราชสีห์และเสือ
ขอพวกราชสีห์และเสือก็อย่าปราศจากป่าเลย
พยัคฆชาดกที่ 2 จบ

3. กัจฉปชาดก (273)
ว่าด้วยฤาษีขอร้องเต่า
(พระโพธิสัตว์บวชเป็นฤๅษีเมื่อจะล้อเล่นกับลิงทุศีล จึงกล่าวว่า)
[67] ใครหนอเดินมาเหมือนคนถือภัตตาหารมาเต็มถาด
เหมือนพราหมณ์ได้ลาภเต็มมือ
เจ้าไปเที่ยวภิกขาจารที่ไหนหนอ เข้าไปหาผู้มีศรัทธาคนใดมา
(ลิงทุศีลได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
[68] ข้าพเจ้าเป็นลิงโง่เขลาจับต้องสิ่งที่ไม่ควรจับต้อง
ขอความเจริญจงมีแก่ท่าน ขอท่านจงช่วยปล่อยข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าหลุดพ้นแล้วจะไปยังภูเขา
(พระโพธิสัตว์เจรจากับเต่าว่า)
[69] ธรรมดาเต่าเป็นต้นตระกูลกัสสปโคตร
ลิงเป็นต้นตระกูลโกณฑัญญโคตร
กัสสปะ ท่านจงปล่อยโกณฑัญญะเสียเถิด
ท่านได้เคยร่วมเมถุน1กันมาแล้ว
กัจฉปชาดกที่ 3 จบ

เชิงอรรถ :
1 เคยร่วมเมถุน ในที่นี้หมายถึงเต่าเคยเสพสังวาสกับลิง (ขุ.ชา.อ. 4/169/96)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :135 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [3. ติกนิบาต] 3. อุทปานวรรค 6. กุรุธัมมชาดก (276)
4. โลลชาดก (274)
ว่าด้วยโทษของความโลเล
(นกพิราบโพธิสัตว์เห็นกานั้นทอดถอนใจอยู่ เมื่อจะล้อเล่น จึงกล่าวว่า)
[70] นกยางอะไรนี่มีหงอน เป็นโจร มีเมฆเป็นปู่1
แม่นกยาง เจ้าจงลงมาข้างล่างนี้เถิด
กาสหายของเราเป็นสัตว์ดุร้าย
(กาได้ฟังดังนั้น จึงตอบว่า)
[71] เรามิใช่นกยางมีหงอนหรอก
เราเป็นกาโลเล ไม่เชื่อฟังคำของท่าน
ท่านจงมาดูเถิด เรากลายเป็นกามีขนเกรียนไปแล้ว
(พระโพธิสัตว์กล่าวว่า)
[72] เพื่อนเอ๋ย เจ้าจักประสบความชั่วร้ายเช่นนี้อีก
เพราะปกติของเจ้าเป็นเช่นนั้น
อาหารของมนุษย์เป็นของที่นกไม่ควรกิน
โลลชาดกที่ 4 จบ

5. รุจิรชาดก (275)
ว่าด้วยเรื่องนกกาที่น่ารัก
(พระโพธิสัตว์กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า)
[73] นกยางตัวนี้ช่างน่ารักเสียนี่กระไร
มาอาศัยอยู่ในรังกา
นั่นเป็นรังของกาดุร้ายสหายของเรา

เชิงอรรถ :
1 มีก้อนเมฆเป็นปู่ ในที่นี้หมายถึงนกยางทั้งหลายจะตั้งครรภ์ (มีไข่) ได้ ต้องได้ยินเสียงเมฆครางกระหึ่ม
เสียก่อน จึงตั้งครรภ์ได้ (ดู อธิบาย วิ.อ. 1/222-223) นี้เป็นธรรมดาของนกยาง (ขุ.ชา.อ. 4/70/98)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :136 }