เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [3. ติกนิบาต] 1. สังกัปปวรรค 9. ติรีฏวัจฉชาดก (259)
[23] ขึ้นชื่อว่าความอิ่มในกามทั้งหลายไม่มีแม้ด้วยฝนกหาปณะ
กามทั้งหลายมีความยินดีน้อยแต่มีทุกข์มาก
บัณฑิตรู้ชัดแล้วอย่างนี้
[24] สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ไม่ยินดีในกามทั้งหลายแม้ที่เป็นทิพย์
แต่ยินดีในความสิ้นตัณหา
มันธาตุราชชาดกที่ 8 จบ

9. ติรีฏวัจฉชาดก (259)
ว่าด้วยติรีฏวัจฉดาบส
(อุปราชเข้าไปเฝ้าพระราชาถวายบังคมแล้ว กราบทูลว่า)
[25] กรรมอะไร ๆ ที่สำเร็จด้วยวิชาของดาบสนี้ไม่มีเลย
อนึ่ง ดาบสนี้เป็นพระญาติ เป็นพระสหายของพระองค์ก็หามิได้
เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร
ติรีฏวัจฉดาบสผู้มีปกติถือไม้ 3 ท่อน1เที่ยวไป
จึงบริโภคโภชนะมีรสเลิศเล่า
(พระราชาทรงสรรเสริญคุณของติรีฏวัจฉดาบสโพธิสัตว์ว่า)
[26] เมื่อพ่อแพ้ในการรบ
ตกอยู่ในอันตรายแต่ผู้เดียว
ดาบสนั้นได้ทำการอนุเคราะห์ ยื่นมือช่วยเหลือ
พ่อผู้ตกยากอยู่ในป่าใหญ่อันทารุณ
เพราะการช่วยเหลือนั้น
พ่อผู้กำลังเผชิญทุกข์อยู่ก็ขึ้นจากบ่อน้ำได้

เชิงอรรถ :
1 ไม้ 3 ท่อน ในที่นี้หมายถึงไม้ที่จะนำไปทำขาตั้งหม้อน้ำหรือคนโทน้ำ (ขุ.ชา.อ. 4/25/48)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :125 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [3. ติกนิบาต] 2. ปทุมวรรค 1. ปทุมชาดก (261)
[27] พ่อผู้ดำรงอยู่ในมนุษยโลกนี้
กำลังตกอยู่ในวิสัยของพญามัจจุราช มาถึงสถานที่นี้ได้
เพราะการช่วยเหลืออันแสนยากของดาบสนั้น
ลูกเอ๋ย ติรีฏวัจฉดาบสเป็นผู้สมควรแก่ลาภ1
พวกเจ้าจงถวายปัจจัยที่ควรบริโภค
จงบูชาด้วยปัจจัยที่ควรบูชาแก่ท่านเถิด
ติรีฏวัจฉชาดกที่ 9 จบ

10. ทูตชาดก (260)
ว่าด้วยทุกชีวิตเป็นทูตของท้อง
(บุรุษโลเลคนหนึ่งได้เห็นวิธีเสวยพระกระยาหารของพระเจ้าโภชนสุทธิกโพธิสัตว์
ตกอยู่ในอำนาจของความอยาก จึงกล่าว 2 คาถาทูลว่า)
[28] สัตว์ทั้งหลายที่ตกอยู่ในอำนาจของตัณหาไปยังสถานที่ไกล
เพื่อจะขอแม้กับคนที่เป็นศัตรูเพื่อประโยชน์แก่ท้องใด
ข้าพระองค์เป็นทูตของท้องนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพ
ขอพระองค์อย่าทรงพิโรธข้าพระองค์เลย
[29] มนุษย์ทั้งหลายตกอยู่ในอำนาจของท้องใดทั้งกลางวันกลางคืน
ข้าพระองค์เป็นทูตของท้องนั้น ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นจอมทัพรถ
ขอพระองค์อย่าทรงพิโรธข้าพระองค์เลย
(พระราชาได้สดับคำของบุรุษนั้นแล้ว จึงตรัสว่า)
[30] พ่อพราหมณ์ เราจะให้โคแดงสัก 1,000 ตัว
พร้อมกับโคจ่าฝูงแก่ท่าน เพราะทูตจะไม่ให้แก่ทูตได้อย่างไร
แม้เราก็เป็นทูตของท้องนั้นเหมือนกัน
ทูตชาดกที่ 10 จบ
สังกัปปวรรคที่ 1 จบ

เชิงอรรถ :
1 ลาภ ในที่นี้หมายถึงการได้ปัจจัย 4 (ขุ.ชา.อ. 4/27/49)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :126 }