เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [3. ติกนิบาต] 1. สังกัปปวรรค 9. ติรีฏวัจฉชาดก (259)
7. คามณิจันทชาดก (257)
ว่าด้วยคามณิจันทพราหมณ์
(อาทาสมุขกุมารโพธิสัตว์เห็นกิริยาของพวกลิงแล้ว จึงได้กล่าวกับอำมาตย์
คามณิจันทพราหมณ์ว่า)
[19] สัตว์นี้ไม่ฉลาด(ที่จะกะหรือสร้าง)บ้านเรือน
เป็นสัตว์มีปกติหลุกหลิกหน้าย่น
มักทำลายสิ่งที่เขาทำไว้แล้วสร้างไว้แล้ว
สัตว์ตระกูลนี้มีธรรมชาติอย่างนี้
[20] ขนอย่างนี้มิใช่ขนของผู้มีจิตประกอบด้วยปัญญา
ลิงนี้เป็นสัตว์ที่ไม่น่าไว้วางใจ
พระเจ้าชนสันธะผู้เป็นพระชนกของข้าพเจ้า
ได้ตรัสสอนไว้อย่างนี้ว่า
ธรรมดาลิงไม่รู้เหตุที่ควรหรือไม่ควรอะไรเลย
[21] สัตว์เช่นนั้นจะเลี้ยงดูมารดา บิดา พี่ชาย น้องชาย
หรือพี่สาว น้องสาวของตนไม่ได้เลย
พระเจ้าทศรถผู้เป็นพระชนกของข้าพเจ้าได้ตรัสสอนไว้อย่างนี้
คามณิจันทชาดกที่ 7 จบ

8. มันธาตุราชชาดก (258)
ว่าด้วยพระเจ้ามันธาตุ
(พระศาสดาครั้นทรงแสดงพระธรรมเทศนาแล้ว จึงได้ตรัสว่า)
[22] ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์โคจรรอบภูเขาสิเนรุ
ส่องแสงสว่างไสวไปทั่วทิศมีกำหนดประมาณเท่าไร
สัตว์ทั้งหลายที่อาศัยแผ่นดินอยู่ในที่มีกำหนดประมาณเท่านั้น
ล้วนเป็นทาสของพระเจ้ามันธาตุหมดทั้งนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :124 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [3. ติกนิบาต] 1. สังกัปปวรรค 9. ติรีฏวัจฉชาดก (259)
[23] ขึ้นชื่อว่าความอิ่มในกามทั้งหลายไม่มีแม้ด้วยฝนกหาปณะ
กามทั้งหลายมีความยินดีน้อยแต่มีทุกข์มาก
บัณฑิตรู้ชัดแล้วอย่างนี้
[24] สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ไม่ยินดีในกามทั้งหลายแม้ที่เป็นทิพย์
แต่ยินดีในความสิ้นตัณหา
มันธาตุราชชาดกที่ 8 จบ

9. ติรีฏวัจฉชาดก (259)
ว่าด้วยติรีฏวัจฉดาบส
(อุปราชเข้าไปเฝ้าพระราชาถวายบังคมแล้ว กราบทูลว่า)
[25] กรรมอะไร ๆ ที่สำเร็จด้วยวิชาของดาบสนี้ไม่มีเลย
อนึ่ง ดาบสนี้เป็นพระญาติ เป็นพระสหายของพระองค์ก็หามิได้
เมื่อเป็นเช่นนั้น เพราะเหตุไร
ติรีฏวัจฉดาบสผู้มีปกติถือไม้ 3 ท่อน1เที่ยวไป
จึงบริโภคโภชนะมีรสเลิศเล่า
(พระราชาทรงสรรเสริญคุณของติรีฏวัจฉดาบสโพธิสัตว์ว่า)
[26] เมื่อพ่อแพ้ในการรบ
ตกอยู่ในอันตรายแต่ผู้เดียว
ดาบสนั้นได้ทำการอนุเคราะห์ ยื่นมือช่วยเหลือ
พ่อผู้ตกยากอยู่ในป่าใหญ่อันทารุณ
เพราะการช่วยเหลือนั้น
พ่อผู้กำลังเผชิญทุกข์อยู่ก็ขึ้นจากบ่อน้ำได้

เชิงอรรถ :
1 ไม้ 3 ท่อน ในที่นี้หมายถึงไม้ที่จะนำไปทำขาตั้งหม้อน้ำหรือคนโทน้ำ (ขุ.ชา.อ. 4/25/48)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :125 }