เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [3. ติกนิบาต] 1. สังกัปปวรรค 6. ชรูทปานชาดก (256)
4. กุณฑกกุจฉิสินธวชาดก (254)
ว่าด้วยม้าสินธพกินรำข้าว
(พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลพ่อค้าเมื่อจะทดลองลูกม้าสินธพ จึงกล่าวว่า)
[10] หญ้าอันเป็นเดน ข้าวตัง
และรำข้าวเจ้าเคยกินมาแล้ว
นั่นเป็นอาหารของเจ้า
เพราะเหตุใดบัดนี้เจ้าจึงไม่กิน
(ลูกม้าสินธพได้กล่าวว่า)
[11] มหาพราหมณ์ สถานที่ใดประชาชนไม่รู้จัก
สัตว์เลี้ยงโดยชาติ โดยวินัย1
สถานที่นั้นมีข้าวตังและรำข้าวอยู่เป็นจำนวนมาก
[12] ส่วนท่านรู้จักข้าพเจ้าดีว่า ม้านี้เป็นม้าชั้นยอดชนิดใด
ข้าพเจ้ารู้อยู่ เพราะอาศัยท่านผู้รู้ จึงไม่กินรำข้าวของท่าน
กุณฑกกุจฉิสินธวชาดกที่ 4 จบ

5. สุกชาดก (255)
ว่าด้วยลูกนกแขกเต้า
(พระศาสดาครั้นทรงนำเรื่องในอดีตมาแล้ว จึงได้ตรัสว่า)
[13] นกแขกเต้าตัวนั้นรู้ประมาณในการกินอาหารเพียงใด
จะมีอายุยืนและเลี้ยงดูมารดาบิดาได้นานเพียงนั้น
[14] แต่เมื่อกลืนกินอาหารมากเกินไป
มันจึงจมลงแล้วในสมุทรนั้น
เพราะว่ามันไม่รู้จักประมาณ

เชิงอรรถ :
1 วินัย ในที่นี้หมายถึงความประพฤติ (ขุ.ชา.อ. 4/11/21)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :122 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [3. ติกนิบาต] 1. สังกัปปวรรค 6. ชรูทปานชาดก (256)
[15] เพราะฉะนั้น การรู้จักประมาณ
คือการไม่ติดอยู่ในรสอาหารเป็นการดี
บุคคลผู้ไม่รู้จักประมาณจะจมลง1
ผู้รู้จักประมาณจะไม่จมลง
สุกชาดกที่ 5 จบ

6. ชรูทปานชาดก (256)
ว่าด้วยขุดบ่อน้ำเก่า
(พระศาสดาครั้นทรงแสดงพระธรรมเทศนาแล้ว จึงได้ตรัสว่า)
[16] พ่อค้าทั้งหลายที่มีความต้องการน้ำ
พากันขุดบ่อน้ำเก่าอยู่ ได้แร่เหล็ก แร่ทองแดง
แร่ดีบุก แร่ตะกั่ว แร่เงิน แร่ทอง แก้วมุกดา
แก้วไพฑูรย์เป็นจำนวนมาก
[17] แต่พ่อค้าเหล่านั้นไม่ยินดีด้วยทรัพย์นั้น
ได้พากันขุดลึกยิ่งขึ้นไปอีก
พญานาคตัวมีพิษร้ายแรงมีเดชกล้าในบ่อน้ำนั้น
ได้ฆ่าพวกเขาด้วยเดชแห่งพิษ
[18] เพราะฉะนั้น บุคคลเมื่อจะขุดอย่าขุดลึกเกินไป
เพราะว่าบ่อน้ำที่ขุดลึกเกินไปไม่เป็นการดี
ทรัพย์ที่พวกพ่อค้าขุดได้มาและชีวิตของพวกพ่อค้า
ถูกพญานาคให้พินาศไปเพราะการขุดลึกเกินไป
ชรูทปานชาดกที่ 6 จบ

เชิงอรรถ :
1 จมลง ในที่นี้ หมายถึงจมลงในอบายภูมิทั้ง 4 อันเป็นสภาวะหรือที่อันปราศจากความเจริญ คือ (1) นิรยะ
นรก สภาวะหรือที่อันปราศจากความสุข มีแต่ความเร่าร้อน (2) ติรัจฉานโยนิ กำเนิดดิรัจฉาน พวก
มืดบอดโง่เขลา (3) ปิตติวิสัย แดนเปรตผู้มีแต่ความหิวโหย (4) อสุรกาย พวกอสูร พวกหวาดหวั่น
ไร้ความรื่นเริง (ขุ.ชา.อ. 4/15/25)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :123 }