เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [2. ทุกนิบาต] 9. อุปาหนวรรค 3. วิกัณณกชาดก (233)
รวมชาดกที่มีในวรรคนี้ คือ

1. กาสาวชาดก 2. จูฬนันทิยชาดก
3. ปุฏภัตตชาดก 4. กุมภีลชาดก
5. ขันติวัณณนชาดก 6. โกสิยชาดก
7. คูถปาณกชาดก 8. กามนีตชาดก
9. ปลายิตชาดก 10. ทุติยปลายิตชาดก

9. อุปาหนวรรค
หมวดว่าด้วยอุปมาด้วยรองเท้า
1. อุปาหนชาดก (231)
ว่าด้วยการใช้ศิลปะในทางที่ผิดก่อให้เกิดโทษเหมือนรองเท้ากัด
(นายควาญช้างโพธิสัตว์กราบทูลพระราชาว่า)
[161] รองเท้าที่คนซื้อมาเพื่อต้องการความสบายเท้า
กลับนำทุกข์มาให้
รองเท้านั้นถูกความร้อนแผดเผา
ถูกพื้นครูดสี ย่อมกัดเท้าคนผู้นั้นนั่นแหละ ฉันใด
[162] ผู้ใดเกิดในตระกูลต่ำ ไม่ใช่อารยชน
เรียนศิลปวิทยาในสำนักของอาจารย์แล้ว
ผู้นั้นย่อมฆ่าตนเองด้วยศิลปวิทยาที่เรียนมา
ในสำนักของอาจารย์นั้น ฉันนั้น
บุคคลนั้นบัณฑิตเรียกว่า อนารยชน
เปรียบด้วยรองเท้าที่ทำไม่ดี
อุปาหนชาดกที่ 1 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :108 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [2. ทุกนิบาต] 9. อุปาหนวรรค 3. วิกัณณกชาดก (233)
2. วีณาถูณชาดก (232)
ว่าด้วยชายค่อมนอนขดเหมือนคันพิณ
(เศรษฐีโพธิสัตว์สนทนากับธิดาเศรษฐีว่า)
[163] เจ้าคนเดียวเท่านั้นที่คิดอย่างนี้
ชายค่อมผู้โง่เขลาคนนี้ไม่อาจจะเป็นผู้นำได้
นางผู้เจริญ เจ้าไม่ควรจะร่วมทางกับคนค่อมคนนี้เลย
(ธิดาเศรษฐีฟังคำของพระโพธิสัตว์แล้วว่า)
[164] ดิฉันเข้าใจว่าชายค่อมเป็นคนองอาจ จึงได้รักใคร่เขา
เขานอนขดอยู่อย่างนี้ ดุจคันพิณที่สายขาด
วีณาถูณชาดกที่ 2 จบ

3. วิกัณณกชาดก (233)
ว่าด้วยกามคุณเช่นกับชนัก
(เจ้าหน้าที่จัดอาหารพูดกับจระเข้ว่า)
[165] เจ้าจงไปในสถานที่ที่เจ้าปรารถนาเถิด
เจ้าถูกชนักแทงในที่อันสำคัญ
อนึ่ง เจ้าเบื่อ ๆ อยาก ๆ ในอาหาร
เฝ้าติดตามฝูงปลาอยู่ ถูกอาหารเคล้าเสียงกลองขจัดเสียแล้ว
(พระศาสดาครั้นทรงแสดงชาดกนี้แล้ว จึงตรัสว่า)
[166] บุคคลผู้คล้อยตามโลกามิส1อย่างนี้
อนุวัตตามอำนาจจิตย่อมเดือดร้อน
บุคคลนั้นย่อมเดือดร้อนท่ามกลางหมู่ญาติมิตรสหาย
เหมือนจระเข้ตัวติดตามฝูงปลาถูกชนักแทง
วิกัณณกชาดกที่ 3 จบ

เชิงอรรถ :
1 คำว่า โลกามิส ได้แก่ กามคุณ 5 คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่เรียกว่าโลกามิส (เหยื่อสำหรับโลก)
นั้น เพราะกามคุณทั้ง 5 นี้ถือว่าเป็นของน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ (ขุ.ชา.อ. 3/166/230)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :109 }