เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [1. เอกกนิบาต] 3. กุรุงควรรค 4. อาชัญญชาดก (24)
2. กุกกุรชาดก (22)
ว่าด้วยสุนัขที่ถูกฆ่า
(สุนัขโพธิสัตว์แสดงธรรมถวายพระราชาผู้ทำสิ่งที่ไม่เป็นธรรมว่า)
[22] พวกลูกสุนัขที่เขาเลี้ยงจนเจริญเติบโตแล้วในราชตระกูล
เป็นสัตว์มีตระกูล สมบูรณ์ด้วยสีสันและกำลัง กลับไม่ถูกฆ่า
พวกเราซิกลับถูกฆ่า นี้ชื่อว่าการฆ่าที่แปลก
ชื่อว่าเป็นการฆ่าผู้ที่มีกำลังอ่อนแอ
กุกกุรชาดกที่ 2 จบ

3. โภชาชานียชาดก (23)
ว่าด้วยม้าสินธพชาติอาชาไนย
(ม้าสินธพชาติอาชาไนยโพธิสัตว์ กล่าวกับหมู่ญาติว่า)
[23] ม้าสินธพชาติอาชาไนยที่ถูกยิงด้วยลูกศร
แม้นอนตะแคงอยู่ ก็ยังประเสริฐกว่าม้ากระจอก
พ่อสารถี ท่านจงตระเตรียมเราออกรบอีกเถิด
โภชาชานียชาดกที่ 3 จบ

4. อาชัญญชาดก (24)
ว่าด้วยม้าอาชาไนยกับม้ากระจอก
(ม้าอาชาไนยโพธิสัตว์ถูกฟันหมอบอยู่ กล่าวกับพลรถว่า)
[24] ไม่ว่าในกาลใด สถานที่ใด ขณะใด
สนามรบใด หรือเวลาใด
ม้าอาชาไนยก็เร่งความเร็ว
ส่วนม้ากระจอกย่อมล้าหลัง
อาชัญญชาดกที่ 4 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :10 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [1. เอกกนิบาต] 3. กุรุงควรรค 7. อภิณหชาดก (27)
5. ติตถชาดก (25)
ว่าด้วยการรังเกียจท่าน้ำ
(อำมาตย์โพธิสัตว์กล่าวกับคนเลี้ยงม้าว่า)
[25] นายสารถี ท่านจงให้ม้าดื่มน้ำที่ท่าอื่น ๆ บ้าง
แม้ข้าวปายาสที่รับประทานบ่อย ๆ คนก็ยังเบื่อได้
ติตถชาดกที่ 5 จบ

6. มหิฬามุขชาดก (26)
ว่าด้วยพญาช้างมหิฬามุข
(อำมาตย์โพธิสัตว์กราบทูลพระราชาว่า)
[26] พญาช้างต้นชื่อมหิฬามุขได้เที่ยวทำร้ายคน
เพราะสำเหนียกคำของพวกโจรมาก่อน
พญามงคลหัตถีได้ตั้งอยู่ในคุณธรรมทั้งปวง
เพราะสำเหนียกคำของนักบวชผู้สำรวมดี
มหิฬามุขชาดกที่ 6 จบ

7. อภิณหชาดก (27)
ว่าด้วยการได้เห็นกันเนือง ๆ
(อำมาตย์โพธิสัตว์กราบทูลพระราชาว่า)
[27] พญาช้างต้นไม่สามารถจะรับคำข้าว ไม่สามารถจะรับก้อนข้าว
ไม่สามารถจะรับหญ้า และไม่สามารถจะขัดสีร่างกายได้
ข้าพระพุทธเจ้าสำคัญว่าพญาช้างตัวประเสริฐ
มีความเยื่อใยในลูกสุนัข เพราะได้เห็นกันเนือง ๆ พระเจ้าข้า
อภิณหชาดกที่ 7 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :11 }