เมนู

ที่มาของข้อมูล : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับ มจร.
MCUTRAI Version 1.0

พระไตรปิฎกเล่มที่ 27 สุตตันตปิฎกที่ 19 ขุททกนิกาย ชาดก ภาค 1

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [1. เอกกนิบาต] 1. อปัณณกวรรค

พระสุตตันตปิฎก
ขุททกนิกาย ชาดก ภาค 1
_____________
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

1. เอกกนิบาต
1. อปัณณกวรรค
หมวดว่าด้วยการปฏิบัติไม่ผิด
1. อปัณณกชาดก (1)
ว่าด้วยการปฏิบัติไม่ผิด

(พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปรารภพ่อค้าเกวียนสองคน คนหนึ่งปฏิบัติผิด
คนหนึ่งปฏิบัติถูก ตรัสพระคาถาว่า)
[1] คนฉลาดพวกหนึ่งกล่าวฐานะที่ไม่ผิด1
นักคาดคะเนทั้งหลายกล่าวฐานะที่ 2 (ที่ผิด)
ผู้มีปัญญารู้จักฐานะที่ไม่ผิดและฐานะที่ผิดนั้นแล้ว
ควรถือฐานะที่ไม่ผิดไว้เถิด
อปัณณกชาดกที่ 1 จบ

เชิงอรรถ :
1 ฐานะที่ไม่ผิด ในที่นี้หมายถึงฐานะหรือเหตุที่เป็นจริงโดยส่วนเดียว ไม่ผิดพลาด นำออกจากทุกข์ภัยได้
ได้แก่ ไตรสรณคมน์ ศีล 5 ศีล 10 ความสำรวมในปาติโมกข์ ความสำรวมอินทรีย์ ความสำรวมใน
การเลี้ยงชีพ การใช้สอยปัจจัยโดยอุบายที่ชอบ จตุปาริสุทธิศีลแม้ทั้งหมด ความเป็นผู้คุ้มครองทวารใน
อินทรีย์ทั้งหลาย ความเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ ความเพียรของผู้ตื่นอยู่ ฌาน วิปัสสนา อภิญญา
สมาบัติ อริยมรรค อริยผล ทั้งหมดนี้เรียกว่า ฐานะที่ไม่ผิด ทางดำเนินที่ไม่ผิด หรือทางดำเนินที่นำ
ออกจากทุกข์ (ขุ.ชา.อ. 1/1/151)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :1 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [1. เอกกนิบาต] 1. อปัณณกวรรค 4. จูฬเสฏฐิชาดก (4)
2. วัณณุปถชาดก (2)
ว่าด้วยการบำเพ็ญความเพียรเหมือนขุดหาน้ำกลางทะเลทราย
(พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปรารภพ่อค้าเดินทางกลางทะเลทรายขุดหาน้ำได้ด้วย
ความเพียร เปรียบเทียบกับมุนีผู้ทำความเพียรย่อมได้ความสงบใจ ตรัสพระคาถาว่า)
[2] ชนทั้งหลายผู้ไม่เกียจคร้าน
ขุดภาคพื้นที่หนทางกลางทะเลทราย
ได้พบน้ำที่กลางทะเลทรายอันราบเรียบ ฉันใด
มุนีผู้ประกอบด้วยความเพียรและกำลัง ไม่เกียจคร้าน
พึงประสบความสงบใจ ฉันนั้น
วัณณุปถชาดกที่ 2 จบ

3. เสริววาณิชชาดก (3)
ว่าด้วยพ่อค้าชื่อเสริวะ
(พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปรารภภิกษุผู้ละความเพียร ตรัสพระคาถาว่า)
[3] ถ้าเธอพลาดจากสภาวะอันแน่นอนแห่งพระสัทธรรม
ในศาสนานี้แล้ว เธอจะต้องเดือดร้อนตลอดกาลนาน
เหมือนพ่อค้าชื่อว่าเสริวะนี้
เสริววาณิชชาดกที่ 3 จบ

4. จูฬเสฏฐิชาดก (4)
ว่าด้วยจูฬเศรษฐี
(พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปรารภการตั้งตัวได้ด้วยทรัพย์เพียงเล็กน้อย ตรัส
พระคาถาว่า)
[4] ผู้มีปัญญาพิจารณาเห็นโดยประจักษ์
ย่อมตั้งตัวได้ด้วยสิ่งของอันมีมูลค่าน้อย
เหมือนคนก่อไฟกองเล็ก ๆ ทำให้เป็นกองใหญ่ได้
จูฬเสฏฐิชาดกที่ 4 จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 27 หน้า :2 }