เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [1. อิตถีวิมาน] 4. มัญชิฏฐกวรรค 6. วิหารวิมาน
[738] วิมานเรือนยอดของดิฉัน จัดแบ่งไว้แต่ละส่วนอย่างเหมาะสม
ส่องสว่างรุ่งเรือง ตลอดรัศมี 100 โยชน์โดยรอบ
[739] อนึ่ง ที่วิมานของดิฉันนี้ มีสระโบกขรณี
ซึ่งหมู่มัจฉาทิพย์อาศัยอยู่ประจำ
มีน้ำใสสะอาด มีพื้นดารดาษด้วยทรายทอง
[740] ดื่นดาดด้วยบัวหลวงหลากชนิด มีบัวขาวรายล้อมไว้รอบ
ยามลมรำเพยพัดก็โชยกลิ่นหอมระรื่นจรุงใจ
[741] มีรุกขชาตินานาชนิด คือต้นหว้า ต้นขนุน ต้นตาล ต้นมะพร้าว
และป่าไม้เกิดเองตามธรรมชาติ ภายในนิเวศน์ มิได้มีใครปลูกไว้
[742] วิมานนี้กึกก้องไปด้วยดนตรีชนิดต่าง ๆ
เหล่าเทพอัปสรก็ส่งเสียงเจื้อยแจ้ว
แม้นรชนที่ฝันเห็นดิฉันแล้วต้องปลื้มใจ
[743] วิมานน่าอัศจรรย์ น่าทัศนา มีรัศมีสว่างไสวไปทุกทิศ เช่นนี้
บังเกิดเพราะกุศลกรรมของดิฉัน
(ฉะนั้น)จึงควรแท้ที่สาธุชนจะทำบุญไว้
(พระอนุรุทธเถระประสงค์จะให้นางบอกสถานที่ที่นางวิสาขาเกิดจึงได้กล่าวคาถา
นี้ว่า)
[744] เธอได้วิมานน่าอัศจรรย์ น่าทัศนา
เพราะการอนุโมทนาอย่างเดียวเท่านั้น
ขอเธอจงบอกคติของนางวิสาขา
ผู้ที่ได้ถวายทานนั้นเถิดว่า นางเกิด ณ ที่ไหน
(เทพธิดานั้นตอบว่า)
[745] พระคุณเจ้าผู้เจริญ นางวิสาขามหาอุบาสิกาสหายของดิฉันนั้น
ได้สร้างมหาวิหารถวายสงฆ์ รู้แจ้งธรรม ได้ถวายทาน
เกิดแล้วในหมู่ทวยเทพชั้นนิมมานรดี

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :86 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [1. อิตถีวิมาน] 4. มัญชิฏฐกวรรค 6. วิหารวิมาน
[746] เป็นปชาบดีของท้าวสุนิมิตเทวราชนั้น
วิบากแห่งกรรมของนางเป็นเรื่องที่ใคร ๆ ไม่พึงคิด
ดิฉันได้ชี้แจงถึงคำถามที่พระคุณเจ้าถาม
ถึงที่ที่นางเกิดแด่พระคุณเจ้าแล้วตามความเป็นจริง
[747] ถ้าอย่างนั้น ขอนิมนต์พระคุณเจ้าโปรดชักชวนแม้คนอื่น ๆ ว่า
ท่านทั้งหลายจงเต็มใจถวายทานแด่สงฆ์เถิด
และจงมีใจเลื่อมใสฟังธรรม
การได้เกิดเป็นมุษย์ที่ได้แสนยาก พวกท่านก็ได้แล้ว
[748] พระพุทธเจ้ามีพระสุรเสียงไพเราะดังเสียงพรหม
มีพระฉวีวรรณผุดผ่องดังทอง ผู้ทรงเป็นใหญ่ยิ่งด้วยมรรค1
ได้ทรงแสดงทานใดว่าเป็นทาง(ไปสู่สุคติ)
ขอท่านทั้งหลายจงเต็มใจถวายทานนั้นแด่สงฆ์
ซึ่งเป็นบุญเขตที่ทักษิณาทานมีผลมากเถิด
[749] ทักขิไณยบุคคล 4 คู่ 8 ท่านเหล่านี้ที่ท่านผู้รู้สรรเสริญแล้ว
เป็นสาวกของพระสุคต ทานที่ถวายในบุคคลเหล่านี้มีผลมาก
[750] พระอริยบุคคลผู้บรรลุอริยมรรค 4
และผู้ดำรงอยู่ในอริยผล 4 นี้
จัดเป็นพระสงฆ์ เป็นผู้ปฏิบัติตรง
ดำรงมั่นอยู่ในศีล สมาธิ และปัญญา
[751] มนุษย์ทั้งหลายผู้หวังบุญให้ทานอยู่
ทำบุญปรารภเหตุแห่งการเวียนว่ายตายเกิด
จึงถวายทานแก่สงฆ์ซึ่งมีผลมาก
[752] ด้วยว่า พระสงฆ์นี้มีคุณยิ่งใหญ่ ไพบูลย์
หาประมาณมิได้ ดุจทะเลเปี่ยมด้วยน้ำ
พระอริยบุคคลเหล่านี้แลเป็นผู้ประเสริฐสุด
เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าผู้มีความเพียร
เป็นผู้ให้แสงสว่างคือปัญญาแก่ชาวโลก ย่อมยกธรรมขึ้นแสดง

เชิงอรรถ :
1 อริยมรรค (ขุ.วิ.อ. 748/221)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :87 }