เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [1. อิตถีวิมาน] 3. ปาริจฉัตตวรรค 7. เปสวตีวิมาน
[651] บุปผชาติที่เกิดในน้ำและบนบกก็มี และพฤกษชาติเหล่าอื่น
ทั้งที่เป็นของมนุษย์ และเป็นทิพย์มิใช่เป็นของมนุษย์ก็มี
ทั้งหมดล้วนเกิดมีอยู่ใกล้วิมานของเธอ
[652] นี้เป็นผลแห่งการสำรวมและการฝึก1อย่างไร
เพราะผลกรรมอะไรเธอจึงมาเกิดในวิมานนี้
เทพธิดา ผู้มีขนตาหนางอนงาม ขอเธอจงเล่าถึงกรรม
เป็นเหตุให้เธอได้วิมานนี้ตามที่อาตมาถามตามสมควร
(ลำดับนั้น เทพธิดาตอบว่า)
[653] วิมานที่ดิฉันได้แล้วนี้ มีฝูงนกกระเรียน
นกยูงและนกเขาไฟเที่ยวบินร่อนร้องไปมา
ทั้งนกนางนวลและพญาหงส์ทองซึ่งเป็นนกทิพย์เที่ยวบินว่อนไปมาอยู่
และอึงคะนึงไปด้วยฝูงนกเป็ดน้ำ นกกาน้ำ
นกดุเหว่าและฝูงนกประเภทอื่น ๆ
[654] มีไม้ดอกและไม้เลื้อยแผ่กิ่งก้านสาขานานาชนิด
มีต้นแคฝอย ต้นหว้า ต้นอโศก
ดิฉันจะเล่าเหตุผลที่ดิฉันได้วิมานนี้ถวายพระคุณเจ้า
พระคุณเจ้าโปรดฟังเถิดเจ้าค่ะ
[655] ข้าแต่พระคุณเจ้า ในชาติก่อน ดิฉันได้เกิดเป็นหญิงสะใภ้
ในหมู่บ้านชื่อนาฬกคาม อยู่ทางทิศตะวันออก
ของแคว้นมคธ อันรุ่งเรือง
ชาวบ้านในหมู่บ้านนั้นรู้จักดิฉันในนามว่า เปสวดี
[656] ดิฉันนั้นมีใจเบิกบาน ได้สั่งสมกุศลกรรมไว้ในชาติปางก่อนนั้น
คือได้เกลี่ยดอกคำโรยลงบูชาพระอุปติสสเถระ2
ที่ทวยเทพและมนุษย์พากันบูชา
ผู้มากไปด้วยกุศลธรรม มีคุณธรรมสุดประมาณซึ่งดับกิเลสแล้ว

เชิงอรรถ :
1 การสำรวมกายเป็นต้น และการฝึกฝนอินทรีย์เป็นต้น (ขุ.วิ.อ. 652/182)
2 พระธรรมเสนาบดี (พระสารีบุตร) (ขุ.วิ.อ. 656/185)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :73 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ [1. อิตถีวิมาน] 3. ปาริจฉัตตวรรค 8. มัลลิกาวิมาน
[657] ครั้นบูชาพระเถระผู้มีคุณอันโอฬาร ครองเรือนร่างเป็นชาติสุดท้าย
ผู้บรรลุอนุปาทิเสสนิพพานแล้ว
ดิฉันจึงละร่างมนุษย์มาเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ครอบครองวิมานในเทวโลกนี้
เปสวตีวิมานที่ 7 จบ

8. มัลลิกาวิมาน
ว่าด้วยวิมานที่เกิดขึ้นแก่หญิงชื่อมัลลิกา
(พระนารทเถระถามมัลลิกาเทพธิดาว่า)
[658] เทพธิดา ผู้มีพัสตราภรณ์และธงล้วนแต่สีเหลือง
ประดับประดาด้วยเครื่องประดับสีเหลืองเจิดจ้า
เธอถึงจะไม่ประดับด้วยผ้าห่มสีเหลืองอร่ามงามเช่นนี้ก็ยังงาม
[659] เทพธิดา ผู้สวมเกยูรทอง ประดับอุบะทอง
คลุมเรือนร่างด้วยข่ายทอง
เธอผู้สวมศีรษะด้วยพวงมาลัยแก้วนานาชนิดเป็นใครกัน
[660] มาลัยแก้วเหล่านั้นล้วนสำเร็จด้วยทองคำธรรมชาติ
ด้วยแก้วทับทิม แก้วมุกดา แก้วไพฑูรย์
บางพวงก็ล้วนแล้วด้วยแก้วลาย
บ้างก็สำเร็จด้วยแก้วมณีกับแก้วลายแดงคล้ายสีเลือด
บ้างก็สำเร็จด้วยแก้วแดงอันสดใสคล้ายสีตานกพิราบ
[661] บรรดามาลัยเหล่านั้น บางพวงส่งเสียงไพเราะเหมือนเสียงนกยูง
บางพวงส่งเสียงไพเราะเหมือนเสียงพญาหงส์ทอง
บางพวงส่งเสียงไพเราะเหมือนเสียงนกการเวก
เสียงมาลัยเหล่านั้นไพเราะชวนฟัง คล้ายเสียงดนตรีเครื่องห้า
ที่คนธรรพ์ผู้ฉลาดพากันบรรเลงก็ปานกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :74 }