เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [16. มหานิบาต] 1. สุเมธาเถรีคาถา
[503] โปรดทรงระลึกถึงสภาวะที่จะสลายไปแห่งโทษคือกาย
ที่ไม่มีแก่นสาร ซึ่งเปรียบด้วยก้อนฟองน้ำ
โปรดทรงพิจารณาให้เห็นขันธ์ทั้งหลายว่าเป็นสภาพไม่เที่ยง
โปรดทรงระลึกถึงนรกทั้งหลายว่ามีความคับแค้นมาก
[504] โปรดทรงระลึกถึงสัตว์ทั้งหลายที่พากันทำป่าช้าให้รก
ในชาตินั้น ๆ อยู่ร่ำไป
โปรดระลึกถึงภัยคือจรเข้1
โปรดทรงระลึกถึงอริยสัจ 4
[505] เมื่ออมตนิพพานมีอยู่
พระองค์ยังจะทรงต้องการอะไร
ด้วยของเผ็ดร้อน 5 อย่างที่ทรงดื่มแล้วอีกเล่า
เพราะว่า ความยินดีกามทุกอย่าง
เผ็ดร้อนกว่าของเผ็ดร้อน 5 อย่าง
[506] เมื่ออมตนิพพานมีอยู่
พระองค์ยังจะทรงต้องการอะไรด้วยกามทั้งหลายที่เร่าร้อนอีกเล่า
เพราะว่าความยินดีกามทุกอย่างอันไฟติดโพลงแล้ว
ให้เดือดร้อน ให้หวั่นไหว เผาให้ร้อนแล้ว
[507] เมื่อการออกจากกามซึ่งไม่มีข้าศึกมีอยู่
พระองค์ยังจะทรงต้องการอะไรด้วยกามทั้งหลายที่มีข้าศึกมาก
กามทั้งหลายมีภัยอยู่ทั่วไป
คือ ราชภัย อัคคีภัย โจรภัย อุทกภัย
และอัปปิยภัย2จึงชื่อว่ามีข้าศึกมาก

เชิงอรรถ :
1 เห็นแก่กินเห็นแก่ปากแก่ท้อง
2 ภัยที่เกิดจากคนร่วมมรดกที่ไม่ถูกกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :637 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [16. มหานิบาต] 1. สุเมธาเถรีคาถา
[508] เมื่อโมกขธรรมมีอยู่
พระองค์ยังจะทรงต้องการอะไร
ด้วยกามทั้งหลายที่มีการฆ่าการจองจำเล่า
เพราะว่าการฆ่าการจองจำมีอยู่ในกามทั้งหลาย
สัตว์ทั้งหลายผู้ใคร่กามย่อมได้รับทุกข์ทั้งหลาย
[509] คบเพลิงหญ้าที่ลุกโพลงย่อมไหม้คนที่ถือ
และพวกคนที่ไม่ยอมปล่อย
เพราะว่ากามทั้งหลายเปรียบด้วยคบเพลิงย่อมไหม้คนที่ไม่ยอมละ
[510] โปรดอย่าละสุขอันไพบูลย์
เพราะเหตุแห่งกามสุขเพียงเล็กน้อย
อย่าทรงเป็นดุจปลาใหญ่กลืนเบ็ด
ต้องเดือดร้อนในภายหลัง
[511] โปรดอย่าทรงเป็นดุจสุนัขถูกล่ามโซ่หมุนไปหมุนมา
เพราะกามทั้งหลายเลย
เพราะกามทั้งหลายจักทำพระองค์ให้เป็นเหมือนคนจัณฑาลหิวจัด
ได้สุนัขแล้วทำให้พินาศได้
[512] พระองค์ทรงประกอบด้วยกาม
จักเสวยทุกข์ซึ่งหาประมาณมิได้
และความเสียใจอย่างมาก
โปรดสละกามอันไม่ยั่งยืนเสียเถิด
[513] เมื่อนิพพานที่ไม่มีความแก่มีอยู่
พระองค์ยังจะทรงต้องการอะไร
ด้วยกามทั้งหลายที่มีความแก่เล่า
ความเกิดทั้งปวงมีมรณะและพยาธิกำกับไว้ในภพทุกภพ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :638 }