เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [16. มหานิบาต] 1. สุเมธาเถรีคาถา
[483] เจ้าหญิงสุเมธานั้นเข้าฌาน อยู่ในปราสาทนั้น
และพระเจ้าอนิกรัตก็ได้เสด็จมาถึงพระนคร
สุเมธาก็เจริญอนิจจสัญญาอยู่ในปราสาทนั้นนั่นแหละ
[484] เจ้าหญิงสุเมธานั้นกำลังมนสิการ
และพระเจ้าอนิกรัตทรงแต่งองค์ด้วยแก้วมณีและทองคำ
ก็รีบเสด็จขึ้นปราสาท ทรงประคองอัญชลี
อ้อนวอนพระนางสุเมธาว่า
[485] “อำนาจ ทรัพย์ ความเป็นใหญ่ โภคะ สุขในราชสมบัติ
น้องหญิงยังเป็นสาวอยู่
ขอเชิญบริโภคกามทั้งหลาย
กามสุขหาได้ยากในโลก
[486] ราชสมบัติพี่ยอมสละให้น้องหญิงแล้ว
เชิญน้องหญิงบริโภคโภคทรัพย์
ถวายทานทั้งหลายเถิด
น้องหญิงอย่าทรงเสียพระทัยเลย
พระชนกพระชนนีของพระน้องหญิงทรงเป็นทุกข์”
[487] เจ้าหญิงสุเมธาไม่ต้องการกามทั้งหลาย
ปราศจากโมหะแล้ว
จึงกราบทูลพระเจ้าอนิกรัตนั้นว่า
“อย่าทรงเพลิดเพลินกามเลย
โปรดทรงเห็นโทษในกามทั้งหลายเถิด เพคะ
[488] พระเจ้ามันธาตุ เจ้าแห่งทวีปทั้ง 4
ทรงเป็นยอดผู้บริโภคกามทั้งหลาย
ยังไม่ทันทรงอิ่มก็เสด็จสวรรคตไปแล้ว
ทั้งความปรารถนาของพระองค์ ก็ยังไม่เต็มเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :634 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [16. มหานิบาต] 1. สุเมธาเถรีคาถา
[489] เทวดาผู้เป็นเจ้าแห่งฝนพึงหลั่งฝนคือรัตนะ 7 ลงมาโดยรอบ
ทั่วทั้ง 10 ทิศ ความอิ่มกามทั้งหลายก็ไม่มี
นรชนทั้งหลายยังไม่อิ่มเลย ก็พากันตายไป
[490] กามทั้งหลายเปรียบด้วยดาบและหลาว
เปรียบด้วยหัวงูเห่า เปรียบด้วยร่างกระดูก
เปรียบด้วยคบเพลิงตามเผาอยู่
[491] กามทั้งหลายไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน มีทุกข์มาก มีพิษมาก
เป็นเหตุแห่งทุกข์ มีผลเป็นทุกข์ เหมือนก้อนเหล็กที่ลุกโชน
[492] กามทั้งหลายเปรียบด้วยผลไม้ เปรียบด้วยชิ้นเนื้อ
นำทุกข์มาให้ เปรียบด้วยความฝันหลอกลวง
เปรียบด้วยของที่ยืมเขามา
[493] กามทั้งหลายเปรียบด้วยหอกและหลาว
เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นทุกข์ เป็นความลำบาก
เสมือนหลุมถ่านเพลิง เป็นเหตุแห่งทุกข์
เป็นภัย เป็นเพชฌฆาต
[494] กามทั้งหลายมีทุกข์มากอย่างนี้
บัณฑิตทั้งหลายจึงกล่าวว่าทำอันตราย
เชิญพระองค์เสด็จกลับไปเสียเถิด
หม่อมฉันไม่มีความวางใจในภพของตนเองเลย
[495] เมื่อไฟกำลังไหม้ศีรษะของตนเองอยู่
คนอื่นจักช่วยอะไรหม่อมฉันได้
เมื่อชราและมรณะติดตามอยู่
ก็ควรพยายามกำจัดชราและมรณะนั้นเสีย”
[496] ดิฉันเห็นพระชนกพระชนนีและพระเจ้าอนิกรัตเสด็จยังไม่ทันถึง
พระทวารก็ประทับนั่งที่พื้นดิน ทรงกันแสงอยู่
จึงได้กราบทูลดังนี้ว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :635 }