เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [14. ติงสนิบาต] 1. สุภาชีวกัมพวนิกาเถรีคาถา
[392] รูปภาพที่ทำด้วยไม้หรือใบลานที่เขาบรรจงเขียนไว้สวยงาม
อันเขาผูกไว้ด้วยด้ายและตรึงไว้ด้วยตะปู
ทำให้เหมือนกับจะฟ้อนรำได้ต่าง ๆ ดิฉันเห็นมาแล้ว
[393] เมื่อรูปนั้นถูกรื้อออก ปลดด้ายและตะปูออก
ก็บกพร่อง กระจัดกระจาย
แยกออกเป็นชิ้น ๆ ไม่พึงได้สภาพที่ชื่อว่ารูป
บุคคลจะพึงเอาใจจดจ่อในรูปนั้นทำไม
[394] ร่างกายของดิฉันนี้ ก็เปรียบด้วยรูปภาพนั้น
เว้นจากธรรม1เหล่านั้นเสีย ก็เป็นไปไม่ได้
ร่างกายเว้นจากธรรม1ทั้งหลายเสีย ก็เป็นไปไม่ได้
บุคคลจะพึงเอาใจจดจ่อในร่างกายนั้นทำไม
[395] เหมือนบุคคลได้เห็นภาพจิตรกรรม
ที่จิตรกรระบายด้วยหรดาล
ทำไว้ที่ฝาผนัง ในจิตรกรรมนั้น ท่านก็ยังเห็นวิปริต
ความสำคัญว่ามนุษย์ของท่านก็ไร้ประโยชน์
[396] คนบอด ท่านยังจะเข้าไปยึดอัตภาพที่ว่างเปล่า
เหมือนภาพลวงตาที่ปรากฏต่อหน้า
เหมือนต้นไม้ทองในความฝัน เหมือนรูปของมายากลที่นักเล่นกล
แสดงท่ามกลางฝูงชนว่าเป็นของจริง
[397] ฟองเป็นดังฟองน้ำที่อยู่กลางดวงตานั้น
มีน้ำตา มีมูลตา เกิดที่ดวงตานั้น
และส่วนของดวงตาต่าง ๆ ก็มารวมกัน
เหมือนก้อนครั่งที่อยู่ตามโพรงไม้

เชิงอรรถ :
1 เว้นจากธาตุมีปฐวีธาตุเป็นต้น และเว้นจากอวัยวะมีจักษุเป็นต้น ร่างกายเว้นจากธาตุและอวัยวะนี้ย่อม
เป็นไปไม้ได้ (ขุ.เถรี.อ. 394/323)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :620 }