เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [13. วีสตินิบาต] 5. สุภากัมมารธีตุเถรีคาถา
[349] อาสวะทั้งหลาย ย่อมไม่สิ้นไปเพราะเงินและทอง
กามทั้งหลาย เป็นศัตรู เป็นผู้ฆ่า
เป็นข้าศึก เป็นดังลูกศรเสียบไว้
[350] ท่านทั้งหลายเป็นญาติก็เหมือนเป็นศัตรู
เพราะเหตุไร จึงชักจูงเราไว้ในกามทั้งหลาย
ท่านทั้งหลายจงรู้เถิดว่า
เราบวชศีรษะโล้นครองผ้าสังฆาฏิแล้ว
[351] ก้อนข้าวที่จะพึงลุกขึ้นยืนรับ การเที่ยวแสวงหา
การนุ่งห่มผ้าบังสุกุล
และบริขารเครื่องอาศัยของนักบวชผู้ไม่มีเรือน
นี่แหละเป็นของเหมาะสมสำหรับเรา
[352] กามทั้งหลายทั้งที่เป็นของทิพย์ และที่เป็นของมนุษย์
เหล่าท่านผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่คลายเสียแล้ว
ท่านเหล่านั้น น้อมไปแล้วในฐานะอันปลอดโปร่ง
บรรลุสุขอันไม่หวั่นไหวแล้ว
[353] เราอย่าร่วมด้วยกามทั้งหลายซึ่งช่วยอะไรไม่ได้เลย
กามทั้งหลายเป็นศัตรู เป็นผู้ฆ่า
อุปมาด้วยกองไฟ นำแต่ทุกข์มาให้
[354] กามนั่น เป็นสภาวะที่เบียดเบียน มีภัย
เป็นไปกับด้วยความคับแค้น
เป็นเสี้ยนหนาม และกามนั้น มีสภาวะหมกมุ่น
ไม่เรียบร้อย เป็นเหตุลุ่มหลงมาก
[355] เป็นเหตุขัดข้อง และเป็นสิ่งที่น่าสะพรึงกลัว
กามทั้งหลาย เปรียบด้วยงูพิษ
ที่เหล่าปุถุชนทั้งเขลาและบอดเพลิดเพลินกันยิ่งนัก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :613 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [13. วีสตินิบาต] 5. สุภากัมมารธีตุเถรีคาถา
[356] ปุถุชนเหล่านั้นเป็นจำนวนมาก
ข้องอยู่แล้วด้วยเปือกตมคือกาม ไม่รู้ความจริงในโลก
ย่อมไม่รู้ซึ้งถึงที่สิ้นสุดความเกิดและความตาย
[357] ผู้คนเป็นอันมากพากันเดินทางไปทุคติซึ่งมีกามเป็นเหตุทั้งนั้น
อันนำโรคมาให้แก่ตนทีเดียว
[358] กามทั้งหลายเป็นเหตุให้เกิดศัตรู ให้เดือดร้อน
นำความเศร้าหมองมา เป็นเหยื่อในโลก
เป็นเครื่องจองจำ เกี่ยวเนื่องด้วยความตาย
[359] กามทั้งหลายเป็นเหตุให้บ้า ให้บ่นเพ้อ ย่ำยีจิต
เพราะทำหมู่สัตว์ให้เศร้าหมอง
พึงเห็นว่า เหมือนลอบที่มารรีบดักไว้
[360] กามทั้งหลาย มีโทษหาที่สุดไม่ได้ มีทุกข์มาก มีพิษมาก
มีความพอใจน้อย เป็นสนามรบ ทำกรรมฝ่ายกุศลให้เหือดแห้งลง
[361] เรานั้นละความพินาศซึ่งมีกามเป็นเหตุเช่นนั้นได้แล้ว
จักไม่กลับมาหามันอีก เพราะว่าตั้งแต่บวชแล้ว
เรายินดีอย่างยิ่งในนิพพาน
[362] หวังความเยือกเย็น จึงทำสงครามต่อกามทั้งหลาย
ยินดีแล้วในนิพพานเป็นที่สิ้นสังโยชน์
จักเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่
[363] เดินตามทางอริยมรรคมีองค์ 8 ซึ่งเป็นทางสายตรง
ไม่เศร้าโศก ปราศจากกิเลสดุจธุลี เป็นทางปลอดโปร่ง
ซึ่งเป็นทางที่เหล่าท่านผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่พากันข้ามไปแล้ว
(พระผู้มีพระภาค ทรงแนะนำพระเถรีผู้บรรลุพระอรหัตตผลในวันที่ 8 หลังจาก
บวช ผู้นั่งเข้าฌานอยู่ที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง แก่ภิกษุทั้งหลาย เมื่อจะทรงสรรเสริญ
จึงตรัสคาถาเหล่านี้ว่า)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :614 }