เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [13. วีสตินิบาต] 5. สุภากัมมารธีตุเถรีคาถา
[335] ขอพระองค์โปรดทอดพระเนตรหม่อมฉันผู้ชื่อว่าสุนทรี
ซึ่งหลุดพ้นแล้ว ไม่มีอุปธิกิเลส
ปราศจากราคะ ไม่เกาะเกี่ยว
ไม่มีอาสวะ ทำกิจเสร็จแล้วมาเฝ้าอยู่
[336] ข้าแต่พระมหาวีระ สุนทรีสาวิกาของพระองค์
ออกจากกรุงพาราณสี มาเฝ้าพระองค์
ถวายอภิวาทพระยุคลบาทอยู่
[337] พระองค์เป็นพระพุทธเจ้าเป็นศาสดาของหม่อมฉัน
ข้าแต่พระผู้ทรงเป็นพราหมณ์
หม่อมฉันเป็นธิดาซึ่งเกิดแต่พระอุระ
เกิดแต่พระโอษฐ์ของพระองค์
ไม่มีอาสวะ ทำกิจเสร็จแล้ว
(ลำดับนั้น พระศาสดาเมื่อจะชมเชยการมาเฝ้าของนาง จึงได้ตรัสว่า)
[338] สุนทรีผู้เจริญ เธอมาดีแล้ว มาไม่เลวเลย
เพราะว่าผู้ที่ฝึกแล้วอย่างนี้ ปราศจากราคะ
ไม่เกาะเกี่ยว ไม่มีอาสวะ
ทำกิจเสร็จแล้ว ย่อมมากราบเท้าพระศาสดา

5. สุภากัมมารธีตุเถรีคาถา
ภาษิตของพระสุภากัมมารธิดาเถรี
พระสุภากัมมารธิดาเถรี(ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[339] เพราะเมื่อก่อน เรายังสาวนุ่งห่มผ้าสะอาด
ได้ฟังธรรมแล้ว เรานั้นไม่ประมาท
จึงได้ตรัสรู้สัจธรรม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :611 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [13. วีสตินิบาต] 5. สุภากัมมารธีตุเถรีคาถา
[340] ฉะนั้น เราจึงไม่ยินดีอย่างยิ่งในกามทั้งปวง
เห็นภัยในกายของตน กระหยิ่มเฉพาะเนกขัมมะเท่านั้น
[341] ละหมู่ญาติ ทาส กรรมกร บ้าน ไร่นา ความมั่งคั่ง
และกองโภคะที่น่ารื่นรมย์ ที่เขาบันเทิงกันนัก
[342] ละสมบัติมิใช่น้อย ออกบวชด้วยศรัทธาอย่างนี้
ในพระสัทธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศดีแล้ว
[343] ข้อที่เราละเงินทองแล้วยังกลับ (ยินดีเงินทอง) อีกนั้น
ไม่สมควรแก่เรา เพราะเราปรารถนาความไม่มีห่วงกังวล
[344] เพราะเงินทอง หาใช่มีไว้เพื่อความตรัสรู้ เพื่อความสงบใจไม่
เงินทองนั้นไม่สมควรแก่สมณะ ทั้งไม่ใช่อริยทรัพย์
[345] อนึ่ง เงินทองนี้ ทำให้เกิดความโลภ นำมาซึ่งความมัวเมา
ให้เกิดความลุ่มหลง เป็นเครื่องเพิ่มพูนความกำหนัดยินดี
มีความระแวง มีความยุ่งยาก
และในเงินทองนั้นไม่มีความยั่งยืนมั่นคงเลย
[346] อนึ่ง ผู้คนเป็นอันมากยินดีในทรัพย์นั้น ชื่อว่าเป็นผู้ประมาท
มีใจเศร้าหมอง ต่างผิดใจต่อกันและกัน
กระทำความบาดหมางทะเลาะวิวาทกัน
[347] การฆ่ากัน การถูกจองจำ การต้องโทษมีตัดมือเป็นต้น
ความเสื่อม ความเศร้าโศก ร่ำไร
ความพินาศเป็นอันมากของคนทั้งหลาย
ผู้เนื่องอยู่ในกามทั้งหลาย ก็มองเห็นกันอยู่
[348] ท่านทั้งหลายเป็นญาติก็เหมือนเป็นศัตรู
เพราะเหตุไร จึงชักจูงเรานั้นไว้ในกามทั้งหลายเล่า
ท่านทั้งหลายจงรู้เถิดว่า เราเห็นภัยในกามทั้งหลายจึงบวช

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :612 }