เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [8. อัฏฐกนิบาต] 1. สีสูปจาลาเถรีคาถา
8. อัฏฐกนิบาต
1. สีสูปจาลาเถรีคาถา
ภาษิตของพระสีสูปจาลาเถรี
(พระสีสูปจาลาเถรีเมื่อจะกล่าวภาษิตที่มารกล่าวแก่ตนจึงได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[196] ภิกษุณี ผู้มีศีลสมบูรณ์ สำรวมอินทรีย์ดีแล้ว
บรรลุบทอันสงบที่ใครทำให้เสียหายมิได้ มีสภาวะชื่นใจ
(มารถามว่า)
[197] แม่นางจงตั้งจิตปรารถนาไว้ในหมู่เทพชั้นดาวดึงส์
ชั้นยามา ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี และชั้นปรนิมมิตวสวัตดี
ที่แม่นางเคยอยู่มาแล้วแต่ก่อนเถิด
(พระสีสูปจาลาเถรีตอบว่า)
[198] เทวดาชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามา ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี
และชั้นปรนิมมิตวสวัตดี
[199] พากันไปจากภพสู่ภพตลอดกาล ติดอยู่ในกายตน
ล่วงกายของตนไปไม่ได้ ก็แล่นไปหาชาติและมรณะ
[200] โลกทั้งปวงถูกไฟไหม้ ลุกโพลงโชติช่วง หวั่นไหวแล้ว
[201] พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมที่ไม่หวั่นไหว ชั่งไม่ได้
ปุถุชนเสพไม่ได้ โปรดเรา ใจของเรายินดีนักในธรรมนั้น
[202] เราฟังคำสอนของพระองค์แล้ว ยินดีอยู่ในคำสอน
ได้บรรลุวิชชา 3 ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
[203] กำจัดความเพลิดเพลินในกามทั้งปวง
ทำลายกองแห่งความมืดได้แล้ว มารผู้ชั่วช้าเลวทราม
ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ท่านถูกเรากำจัดแล้ว
อัฏฐกนิบาต จบ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :587 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [9. นวกนิบาต] 1. วัฑฒมาตุเถรีคาถา
9. นวกนิบาต
1. วัฑฒมาตุเถรีคาถา
ภาษิตของพระวัฑฒมาตาเถรี
(พระวัฑฒมาตาเถรีเมื่อจะกล่าวตักเตือนพระวัฑฒเถระ จึงได้กล่าวภาษิต
เหล่านี้ว่า)
[204] ลูกวัฑฒะ กิเลสดุจหมู่ไม้ในป่า ในโลก
อย่าได้มีแก่พ่อไม่ว่าในกาลไหน ๆ เลย
ลูกเอ๋ย ลูกอย่าได้เป็นผู้มีความทุกข์ร่ำไปเลย
[205] ลูกวัฑฒะ พระมุนีทั้งหลาย ไม่หวั่นไหว
ตัดความสงสัยเสียได้ เป็นผู้เย็น
ถึงความฝึกฝนแล้วเป็นผู้ไม่มีอาสวะอยู่อย่างสบาย
[206] ลูกวัฑฒะ พ่อพึงพอกพูนมรรค
ซึ่งเป็นทางที่ท่านผู้แสวงหาคุณเหล่านั้นประพฤติกันมาแล้ว
เพื่อบรรลุญาณทัสนะ เพื่อทำที่สุดทุกข์
(พระวัฑฒะเถระ กล่าวตอบด้วยภาษิตนี้ว่า)
[207] โยมมารดาบังเกิดเกล้า โยมกล้ากล่าวคาถานี้แก่ลูก
โยมมารดา ลูกเข้าใจว่า
กิเลสดุจหมู่ไม้ในป่าของโยมมารดาคงไม่มีแน่ละ
(พระเถรีกล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[208] ลูกวัฑฒะ สังขารอย่างใดอย่างหนึ่ง
ทั้งเลว ประณีต และปานกลาง
กิเลสดุจหมู่ไม้ในป่าในสังขารเหล่านั้นของโยมแม่
อณูหนึ่งก็ดี ขนาดอณูหนึ่งก็ดี ไม่มีเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :588 }