เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [3. ติกนิบาต] 4. ทันติกาเถรีคาถา
3. อปราอุตตมาเถรีคาถา
ภาษิตของพระอปราอุตตมาเถรี
พระอปราอุตตมาเถรี(ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[45] โพชฌงค์ 7 ประการเป็นทางบรรลุนิพพานนี้
เราเจริญแล้วทั้งหมดตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้
[46] ได้สุญญตสมาบัติและอนิมิตตสมาบัติเป็นประจำตามปรารถนา
เราเป็นธิดาซึ่งเกิดแต่พระอุระของพระพุทธเจ้า
ยินดีแล้วในนิพพานทุกเมื่อ
[47] กามทั้งปวงทั้งที่เป็นของทิพย์และของมนุษย์เราก็ตัดขาดแล้ว
การเวียนว่ายตายเกิดสิ้นไปแล้ว
บัดนี้ไม่มีการเกิดอีก

4. ทันติกาเถรีคาถา
ภาษิตของพระทันติกาเถรี
พระทันติกาเถรี(ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[48] เราออกจากที่พักกลางวันบนภูเขาคิชฌกูฏ
ได้เห็นช้างลงสู่แม่น้ำแล้ว ขึ้นที่ฝั่งแม่น้ำจันทภาคา
[49] นายควาญช้างถือขอแล้ว ร้องบอกว่า จงเหยียดเท้าออก
ช้างเหยียดเท้าออกแล้ว
นายควาญช้างจึงขึ้นขี่ช้าง
[50] เราเห็นช้างที่ไม่เคยได้รับการฝึก
ครั้นได้รับการฝึกแล้ว ตกอยู่ในอำนาจของมนุษย์ทั้งหลาย
ภายหลังแต่ได้เห็นช้างนั้น เราจึงเข้าป่า
ทำจิตให้เป็นสมาธิเพราะกิริยาช้างนั้นเป็นเหตุ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :562 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรีคาถา [3. ติกนิบาต] 6. สุกกาเถรีคาถา
5. อุพพิรีเถรีคาถา
ภาษิตของพระอุพพิรีเถรี
(พระศาสดาประทับนั่งในพระคันธกุฎี แสดงพระองค์แก่พระอุพพิรีเถรี ได้
ตรัสพุทธภาษิตนี้ว่า)
[51] อุพพิรีเธอคร่ำครวญอยู่ในป่าว่า ลูกชีวาเอ๋ย ดังนี้
เธอจงรู้สึกตนก่อนเถิด
บรรดาธิดาของเธอที่มีชื่อเหมือนกันว่า ชีวา
ถูกเผาอยู่ในป่าช้านี้ทั้งหมดถึง 84,000 คน
เธอเศร้าโศกถึงธิดาคนไหน
พระอุพพิรีเถรี(บรรลุพระอรหัตแล้ว เมื่อจะกราบทูล ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[52] ลูกศรคือความโศกที่เห็นได้ยาก ซึ่งเสียบที่หทัยหม่อมฉัน
หม่อมฉันถอนขึ้นได้แล้ว เพราะพระองค์ได้ทรงช่วยบรรเทาความ
โศกถึงธิดาของหม่อมฉันซึ่งถูกความโศกครอบงำ
[53] วันนี้ หม่อมฉันนั้นถอนลูกศรคือความโศกขึ้นได้แล้ว
หมดความอยาก ดับรอบแล้ว
ได้ถึงมุนีพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก

6. สุกกาเถรีคาถา
ภาษิตของพระสุกกาเถรี
พระสุกกาเถรี(ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[54] พวกมนุษย์เมืองราชคฤห์เหล่านี้ทำอะไรกัน
มัวดื่มน้ำผึ้ง1 ดีดนิ้วมืออยู่ ไม่เข้าไปหาพระสุกกาเถรีผู้กำลังแสดง
คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอยู่เล่า

เชิงอรรถ :
1 น้ำหวานที่เกิดจากการหมักดองของเครื่องปรุงหลายอย่าง (เมรัย, น้ำเมา) (ขุ.เถรี.อ. 54/77)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :563 }