เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [21. มหานิบาต] 1. วังคีสเถรคาถา
[1242] เมื่อท่านแสดงธรรมนั้นอยู่
ภิกษุทั้งหลายที่ฟังคำไพเราะ
ก็มีจิตร่าเริงเบิกบานด้วยเสียงที่น่ายินดี น่าฟัง ไพเราะจับใจ
จึงตั้งใจฟัง
(พระวังคีสเถระเมื่อจะชมเชยพระศาสดา ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[1243] ในวัน 15 ค่ำ ซึ่งเป็นวันวิสุทธิปวารณา
วันนี้ มีภิกษุ 500 รูปมาประชุมกัน
ล้วนเป็นผู้ตัดกิเลสเครื่องผูกคือสังโยชน์ได้ขาด
ไม่มีทุกข์สิ้นภพสิ้นชาติแล้ว
เป็นผู้แสวงหาคุณธรรมอันประเสริฐ
[1244] พระเจ้าจักรพรรดิมีหมู่อำมาตย์แวดล้อม
เสด็จเลียบแผ่นดินอันไพศาล
มีมหาสมุทรสาครเป็นขอบเขตนี้ ฉันใด
[1245] สาวกทั้งหลายผู้ได้วิชชา 3 ละมัจจุราชได้
พากันแวดล้อมพระผู้มีพระภาคผู้ทรงชนะสงคราม
ทรงนำหมู่ เป็นผู้ยอดเยี่ยม ก็ฉันนั้น
[1246] พระสาวกทั้งมวลล้วนแต่เป็นพุทธชิโนรส
และในสาวกเหล่านี้ไม่มีความว่างเปล่าจากคุณธรรมเลย
ข้าพระองค์พึงถวายบังคมพระองค์ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งดวงอาทิตย์
ซึ่งทรงทำลายลูกศรคือตัณหาได้แล้ว
[1247] ภิกษุกว่าพันรูปเข้าไปเฝ้าพระสุคตซึ่งกำลังทรงแสดงธรรม
ที่ปราศจากกิเลสดุจธุลีคือนิพพาน ซึ่งหาภัยแต่ที่ไหนมิได้
[1248] ภิกษุเหล่านั้นก็พากันฟังธรรมอันไพบูลย์
ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้มีหมู่ภิกษุแวดล้อมย่อมทรงงดงามหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :542 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [21. มหานิบาต] 1. วังคีสเถรคาถา
[1249] พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่านาคะ
ทรงเป็นพระฤๅษีผู้สูงสุดกว่าบรรดาฤๅษีทั้งหลาย
ทรงโปรยฝนอมตธรรมให้ตกรดเหล่าพระสาวก
คล้ายฝนห่าใหญ่
[1250] ข้าแต่พระมหาวีรเจ้า
พระวังคีสะสาวกของพระองค์ประสงค์จะเฝ้าพระศาสดา
จึงออกจากที่พักกลางวัน มาถวายบังคมพระยุคลบาทของพระองค์
(พระผู้มีพระภาคตรัสพระพุทธภาษิตเหล่านี้ว่า)
[1251] พระวังคีสะครอบงำทางเป็นที่เกิดขึ้นแห่งกิเลสมาร
ทำลายกิเลสเครื่องตรึงใจ 5 อย่างมีราคะเป็นต้นอยู่
เธอทั้งหลายจงดูวังคีสะ ผู้ทำการปลดเปลื้องกิเลสเป็นเครื่องผูก
ผู้อันตัณหา มานะ และทิฏฐิอิงอาศัยไม่ได้
ผู้จำแนกธรรมเป็นส่วน ๆ ได้นั้น
[1252] ความจริง พระวังคีสะได้บอกทางไว้หลายอย่าง
เพื่อถอนโอฆกิเลส
และเมื่อพระวังคีสะนั้นบอกทางอมตะนั้นไว้แล้ว
ภิกษุทั้งหลายที่เห็นธรรมก็ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว
[1253] พระวังคีสะนั้นผู้ทำแสงสว่างให้เกิด รู้แจ่มแจ้ง
ได้เห็นนิพพานเป็นเหตุล่วงพ้นวิญญาณฐิติได้ทั้งหมด
ครั้นรู้และทำให้แจ้ง
จึงได้แสดงธรรมอันเลิศแก่ภิกษุผู้เดินทางไกล 10 รูป
[1254] เมื่อท่านแสดงธรรมไว้ดีอย่างนี้
ท่านผู้รู้แจ้งธรรมทั้งหลายจะมีความประมาทได้อย่างไร
เพราะเหตุนั้นแล ภิกษุผู้ไม่ประมาทในคำสอนของพระผู้มีพระภาค
พระองค์นั้น พึงตั้งใจศึกษา(สิกขา 3) ทุกเมื่อ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :543 }