เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [21. มหานิบาต] 1. วังคีสเถรคาถา
[1224] รูปอย่างใดอย่างหนึ่งในโลกนี้
ทั้งที่อาศัยแผ่นดิน อยู่ในอากาศ อันนับเนื่องในภพ 3
ล้วนไม่เที่ยงคร่ำคร่าไปทั้งนั้น
ท่านผู้รู้ทั้งหลายรู้แจ้งอย่างนี้แล้ว มีตนหลุดพ้นเที่ยวไป
[1225] เหล่าปุถุชนที่มีจิตหมกมุ่นในอุปธิทั้งหลาย
คือ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ
ท่านจงเป็นผู้ไม่หวั่นไหวกำจัดความพอใจในเบญจกามคุณนี้เสีย
เพราะผู้ใดไม่ติดในเบญจกามคุณนี้
บัณฑิตทั้งหลายเรียกผู้นั้นว่าเป็นมุนี
[1226] ถ้ามิจฉาวิตกที่อิงอาศัยทิฏฐิ 60 ประการ
ซึ่งเป็นธรรมที่ไม่ตั้งมั่นในกาลไหน ๆ
ผู้ใดไม่พึงเป็นไปในอำนาจกิเลสด้วยอำนาจมิจฉาวิตกเหล่านั้น
ทั้งไม่ชอบกล่าวคำหยาบคาย ผู้นั้นชื่อว่าเป็นภิกษุ
[1227] ภิกษุผู้เป็นบัณฑิต มีจิตมั่นคงมานาน ไม่ลวงโลก
มีปัญญารักษาตนได้ หมดความทะเยอทะยาน
เป็นมุนี ได้บรรลุสันตบท ย่อมหวังคอยเฉพาะเวลาที่จะปรินิพพาน
[1228] ท่านผู้เป็นสาวกของพระโคดม
ท่านจงละความเย่อหยิ่งเสีย
และจงละทางแห่งความเย่อหยิ่งให้หมด
เพราะผู้ที่หมกมุ่นอยู่ในทางแห่งความเย่อหยิ่ง
จะต้องเดือดร้อนเป็นเวลานาน
[1229] หมู่สัตว์ที่ยังลบหลู่คุณท่าน
ถูกความเย่อหยิ่งกำจัดแล้ว ย่อมตกนรก
เหล่าปุถุชนที่ถูกความเย่อหยิ่งกำจัดแล้ว
เกิดในนรก ย่อมเศร้าโศกตลอดกาลนาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :539 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [21. มหานิบาต] 1. วังคีสเถรคาถา
[1230] บางครั้ง ภิกษุปฏิบัติชอบแล้ว
ชนะกิเลสได้ด้วยมรรค ไม่เศร้าโศกเลย
ยังกลับได้เกียรติคุณและความสุข
บัณฑิตทั้งหลายเรียกภิกษุผู้ปฏิบัติชอบเช่นนั้นว่า เป็นผู้เห็นธรรม
[1231] เพราะเหตุนั้น ภิกษุในพระศาสนานี้
ไม่ควรมีกิเลสเครื่องตรึงใจ 5 อย่าง
ควรมีแต่ความเพียรชอบ ละนิวรณ์ได้แล้ว เป็นผู้บริสุทธิ์
ทั้งละความเย่อหยิ่งได้หมด
สงบระงับได้แล้วทำที่สุดทุกข์ได้ด้วยวิชชา 3
(พระวังคีสเถระเมื่อจะแจ้งความเป็นไปของตนแก่พระอานนทเถระ จึงได้กล่าว
ภาษิตเหล่านี้ว่า)
[1232] กระผมถูกกามราคะแผดเผา
จิตของกระผมเร่าร้อน
ท่านผู้เป็นเชื้อสายโคตมโคตร ดังกระผมจะขอโอกาส
ขอท่านโปรดอนุเคราะห์ช่วยบอกเหตุที่ดับราคะให้ด้วย
(พระอานนทเถระได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[1233] จิตของท่านเร่าร้อนก็เพราะความสำคัญผิด
ท่านจงละทิ้งนิมิตว่างามซึ่งประกอบด้วยราคะเสีย
[1234] จงอบรมจิตให้มีอารมณ์เดียว ให้ตั้งมั่นดี
ด้วยการพิจารณาเห็นว่าไม่งาม
จงอบรมกายคตาสติ
และจงเป็นผู้เบื่อหน่ายให้มาก
[1235] จงเจริญการพิจารณาเห็นว่า ไม่เที่ยง
และจงละมานานุสัยเสียให้ได้ขาด
แต่นั้น ท่านจะเป็นผู้สงบเที่ยวไป เพราะละมานะได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :540 }