เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [20. สัฏฐินิบาต] 1. มหาโมคคัลลานเถรคาถา
[1181] ในเวลาเช้า ภิกษุเช่นใดเข้าวิโมกขสมาบัติ 8 ทั้งอนุโลมและ
ปฏิโลม ออกจากสมาบัตินั้นแล้ว จึงเที่ยวไปบิณฑบาต
[1182] พราหมณ์ ท่านอย่ารุกรานภิกษุเช่นนั้น
อย่าได้ทำลายตนเสียเลย
เชิญทำใจให้เลื่อมใสในพระอรหันต์ผู้คงที่
รีบประนมมือไหว้เสีย ศีรษะของท่านอย่าได้แตก
(พระเถระเห็นพระโปฏฐิละปฏิบัติ จึงได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[1183] พระโปฏฐิละนี้ไม่เห็นพระสัทธรรม
ถูกสังสารวัฏหุ้มห่อไว้ เดินทางผิด ซึ่งเป็นทางคดไม่ควรเดิน
[1184] พระโปฏฐิละหมกมุ่นอยู่ในสังขาร ติดอยู่ในลาภสักการะ
ดังตัวหนอนที่ติดคูถ จึงเป็นคนเปล่า
(พระเถระเมื่อจะสรรเสริญท่านพระสารีบุตร จึงได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[1185] เชิญท่านดู ท่านพระสารีบุตรมีคุณน่าดู น่าชม
หลุดพ้นได้ด้วยวิกขัมภนปหานและสมุจเฉทปหานทั้ง 2 ส่วน
มีจิตตั้งมั่นดีภายใน
[1186] ผู้ปราศจากลูกศรคือราคะเป็นต้น
สิ้นสังโยชน์ บรรลุวิชชา 3
ละมัจจุเสียได้ ควรแก่ทักษิณา
เป็นเนื้อนาบุญอย่างยอดเยี่ยมของหมู่มนุษย์
(พระสารีบุตรเถระเมื่อจะสรรเสริญพระมหาโมคคัลลานเถระ จึงได้กล่าว
ภาษิตเหล่านี้ว่า)
[1187] อุบัติเทพมีฤทธิ์ มีเกียรติยศ
มีจำนวนมากถึง 10,000 เหล่านี้ และพรหมปุโรหิตทั้งหมดก็พา
กันมายืนประนมมือนอบน้อมพระโมคคัลลานะ
พร้อมกับกล่าวว่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :533 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [20. สัฏฐินิบาต] 1. มหาโมคคัลลานเถรคาถา
[1188] ข้าแต่ท่านผู้เป็นบุรุษอาชาไนย ขอความนอบน้อมจงมีแด่ท่าน
ข้าแต่ท่านผู้เป็นบุรุษสูงสุด ขอความนอบน้อมจงมีแด่ท่าน
ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านสิ้นอาสวะแล้วเป็นผู้ควรแก่ทักษิณา
[1189] พระโมคคัลลานะผู้อันมนุษย์และเทวดาบูชาแล้ว
เกิดโดยอริยชาติ ครอบงำความตายเสียได้
ไม่ติดอยู่ในสังขาร เหมือนดอกบัวไม่ติดอยู่กับน้ำ
[1190] พระโมคคัลลานะรู้แจ้งโลกได้ตั้งพันเพียงครู่เดียว
เหมือนท้าวมหาพรหมเป็นผู้ชำนาญในคุณคือฤทธิ์
ในจุติและอุบัติของเหล่าสัตว์
ย่อมเห็นเทวดาทั้งหลายได้ด้วยทิพยจักษุในกาลอันสมควร
(พระมหาโมคคัลลานะ เมื่อจะประกาศคุณของตนได้กล่าวภาษิตว่า)
[1191] พระสารีบุตรเท่านั้นเยี่ยมกว่าภิกษุผู้ทรงคุณธรรมชั้นสูง
ทั้งทางด้านปัญญา ศีล และอุปสมะ
[1192] พึงเนรมิตอัตภาพชั่วขณะเดียวได้ตั้งแสนโกฏิ
เราเป็นผู้ฉลาดในวิธีแสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ทั้งเป็นผู้ชำนาญด้วยฤทธิ์
[1193] ภิกษุโมคคัลลานโคตรผู้ถึงความสำเร็จโดยความเป็นผู้ชำนาญ
ในสมาธิและวิชชา เป็นปราชญ์
มีอินทรีย์มั่นคงในพระศาสนาของพระพุทธเจ้าผู้อันตัณหาอาศัยไม่ได้
ได้ตัดเครื่องจองจำคือกิเลสเสียได้อย่างเด็ดขาด
เหมือนช้างทำลายปลอกที่ทำด้วยเถาหัวด้วนให้ขาดเสีย
[1194] เราได้ปรนนิบัติพระศาสดา
ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
ปลงภาระที่หนักเสียได้ ถอนตัณหาที่นำไปสู่ภพได้ขาดแล้ว
[1195] เราออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเพื่อประโยชน์ใด
ประโยชน์นั้นเป็นที่สิ้นไปแห่งสังโยชน์ทั้งปวงเราก็ได้บรรลุแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :534 }