เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [19. ปัญญาสนิบาต] 1. ตาลปุฏเถรคาถา
19. ปัญญาสนิบาต
1. ตาลปุฏเถรคาถา
ภาษิตของพระตาลปุฏเถระ
(พระตาลปุฏเถระหวังจะจำแนกแสดงโยนิโสมนสิการโดยประการต่าง ๆ จึงได้
กล่าวสอนภิกษุทั้งหลายด้วยภาษิตเหล่านี้ว่า)
[1094] เมื่อไรหนอเราจะอยู่ผู้เดียวไม่มีตัณหาเป็นเพื่อนที่ซอกเขา
เมื่อไรหนอเราจะพิจารณาเห็นแจ้งภพทั้งปวงโดยเป็นสภาวะไม่เที่ยงอยู่
เมื่อไรหนอความดำริเช่นนี้นั้นของเราจะสำเร็จได้
[1095] เมื่อไรหนอเราจะได้เป็นมุนีนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ที่ตัดด้วยศัสตรา
ไม่ยึดมั่น ไม่มีความหวัง ละราคะ โทสะ และโมหะได้แล้ว เที่ยว
ไปในป่าใหญ่อยู่ได้อย่างสบาย
[1096] เมื่อไรหนอเราจึงจะเห็นแจ้งร่างกายนี้ซึ่งไม่เที่ยง เป็นรังแห่ง
ความตายและเป็นรังแห่งโรค ถูกมรณะและชราคอยรบกวน
ปราศจากความกลัว อาศัยอยู่ในป่าแต่ผู้เดียว
ตรึกเช่นนี้นั้นของเราจะสำเร็จเมื่อไรหนอ
[1097] เมื่อไรหนอเราพึงจับดาบคมกริบคืออริยมรรคที่สำเร็จด้วยปัญญา
ตัดเถาวัลย์คือตัณหาที่ก่อให้เกิดภัย นำทุกข์มาให้
เป็นเหตุให้หมุนวนเวียนไปตามอารมณ์มากอย่าง
ความตรึกเช่นนี้นั้นของเราจะสำเร็จเมื่อไรหนอ
[1098] เมื่อไรหนอเราจะได้ฉวยศัสตราที่สำเร็จด้วยปัญญาอันมีเดชานุภาพ
มากของท่านผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ทั้งหลาย หักรานกิเลสมาร
พร้อมทั้งเสนามารโดยฉับพลัน เหนือบัลลังก์สีหอาสน์1
ความตรึกเช่นนี้นั้นของเราจะสำเร็จเมื่อไรหนอ

เชิงอรรถ :
1 บัลลังก์ที่นั่งอย่างมั่นคง, บัลลังก์ที่นั่งแล้วชนะมารและเสนามารได้ (ขุ.เถร.อ. 2/1098/517)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :518 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [19. ปัญญาสนิบาต] 1. ตาลปุฏเถรคาถา
[1099] เมื่อไรหนอสัตบุรุษผู้มีความหนักแน่นในธรรม
คงที่ มีปกติเห็นตามความเป็นจริง ชนะอินทรีย์แล้ว
จะพึงเห็นเราว่า บำเพ็ญเพียรในสมาคม
ความตรึกเช่นนี้นั้นของเราจะสำเร็จเมื่อไรหนอ
[1100] เมื่อไรหนอความเกียจคร้าน ความหิวกระหาย
ลม แดด หรือเหลือบ ยุง สัตว์เลื้อยคลาน
จะไม่เบียดเบียนเราที่ซอกภูเขา นี้เป็นความประสงค์ส่วนตัวเรา
ความตรึกเช่นนี้นั้นของเราจะสำเร็จเมื่อไรหนอ
[1101] เมื่อไรหนอเราจึงจะได้เป็นผู้มีจิตตั้งมั่น มีสติ
บรรลุอริยสัจ 4 ที่เห็นได้แสนยาก ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้
แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ทรงทราบแล้วด้วยพระปัญญา
ความตรึกเช่นนี้นั้นของเราจะสำเร็จเมื่อไรหนอ
[1102] เมื่อไรหนอ เราจะมีความสงบระงับจากเครื่องเร่าร้อน
ในเพราะรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์
ที่เรายังไม่รู้เท่าทัน พิจารณาเห็นได้ด้วยปัญญา
ความตรึกเช่นนี้นั้นของเราจะสำเร็จเมื่อไรหนอ
[1103] เมื่อไรหนอเราถูกว่ากล่าวติเตียนด้วยคำหยาบ
จะไม่เดือดร้อนใจ เพราะคำหยาบนั้นเป็นเหตุ
ถึงได้รับการสรรเสริญ ก็จะไม่ยินดี เพราะการสรรเสริญนั้นเป็นเหตุ
ความตรึกเช่นนี้นั้นของเราจะสำเร็จเมื่อไรหนอ
[1104] เมื่อไรหนอเราพึงเห็นสภาพภายใน
คือ เบญจขันธ์ของเราเหล่านี้ รูปธรรมที่ยังไม่รู้
และสภาพภายนอก คือ ท่อนไม้ กอหญ้า
และลดาวัลย์ ว่าเป็นสภาพเสมอกัน
ความตรึกเช่นนี้นั้นของเราจะสำเร็จเมื่อไรหนอ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :519 }