เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [18. จัตตาฬีสนิบาต] 1. มหากัสสปเถรคาถา
[1076] ภิกษุไม่พึงทำงานก่อสร้างให้มาก
พึงเว้นห่างงานก่อสร้างนั้น
ซึ่งไม่นำประโยชน์มาให้ตน
เพราะกายจะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า
เธอซึ่งประสบความลำบาก
ย่อมไม่ประสบความสงบใจ
[1077] ภิกษุไม่พิจารณาเห็นแม้ประโยชน์ตน
ด้วยเพียงท่องบ่นพระพุทธวจนะ
ย่อมเที่ยวชูคอ สำคัญตัวว่าประเสริฐกว่าเขา
[1078] นรชนใดไม่ประเสริฐเป็นพาล
สำคัญตนว่าประเสริฐกว่าเขา เสมอเขา
ท่านผู้รู้ทั้งหลาย ย่อมไม่สรรเสริญนรชนนั้น ผู้มีใจกระด้าง
[1079] ส่วนผู้ใดเป็นคนประเสริฐกว่าเขาแต่ไม่ถือตัวว่า
ประเสริฐกว่าเขา เสมอเขา หรือว่าเลวกว่าเขา
หวั่นไหวด้วยมานะสักอย่างหนึ่งใน 9 อย่าง
[1080] ท่านผู้รู้ทั้งหลายย่อมสรรเสริญผู้นั้นนั่นแหละว่า
มีปัญญา คงที่เช่นนั้น ตั้งมั่นดีในศีลทั้งหลาย
บำเพ็ญความสงบใจอยู่เนือง ๆ
[1081] ผู้ใดไม่มีความเคารพในเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย
ผู้นั้นย่อมห่างไกลจากพระสัทธรรม เหมือนฟ้ากับดิน
[1082] ก็เหล่าภิกษุมีหิริและโอตตัปปะตั้งมั่นโดยชอบทุกเมื่อ
มีพรหมจรรย์งอกงาม ย่อมเป็นผู้มีภพใหม่สิ้นแล้ว
[1083] ภิกษุที่ยังมีจิตฟุ้งซ่าน กลับกลอก
ถึงจะห่มผ้าบังสุกุล ก็ย่อมไม่งดงามด้วยผ้าบังสุกุลนั้น
เหมือนวานรที่คลุมด้วยหนังราชสีห์ ไม่งดงาม

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :515 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [18. จัตตาฬีสนิบาต] 1.มหากัสสปเถรคาถา
[1084] ส่วนภิกษุผู้มีจิตไม่ฟุ้งซ่าน ไม่กลับกลอก
มีปัญญารักษาตนรอด สำรวมอินทรีย์
ย่อมงดงามด้วยผ้าบังสุกุล เหมือนราชสีห์ที่ซอกภูเขาฉะนั้น
[1085] อุบัติเทพมีฤทธิ์ มีเกียรติยศ
มีจำนวนมากถึง 10,000 เหล่านี้
และหมู่พรหมทั้งหมดนั้น
[1086] พากันมายืนประนมมือ
นอบน้อมท่านพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรผู้เป็นปราชญ์
เข้าฌานสมาบัติได้อย่างอุกฤษฏ์
มีจิตตั้งมั่น พร้อมกับเปล่งวาจาว่า
[1087] ข้าแต่ท่านผู้เป็นบุรุษอาชาไนย ขอความนอบน้อมจงมีแด่ท่าน
ข้าแต่ท่านผู้เป็นบุรุษสูงสุด ขอความนอบน้อมจงมีแด่ท่าน
ที่พวกเราไม่รู้ว่า ท่านอาศัยอารมณ์ไรเล่า ถึงเข้าฌานอยู่
[1088] น่าอัศจรรย์จริงหนอ
วิสัยเฉพาะตัวของท่านผู้รู้ทั้งหลายลึกซึ้งยิ่งนัก
พวกเราผู้สามารถที่จะรู้วิสัยแม้ที่ละเอียด
ดุจนายขมังธนูผู้ยิงขนทรายได้มาประชุมกันแล้ว ก็ยังรู้ไม่ได้
[1089] เพราะได้เห็นท่านพระสารีบุตรผู้ควรแก่การบูชา
ซึ่งหมู่ทวยเทพบูชาแล้วอย่างนั้นในครั้งนั้น
ท่านพระกัปปินะจึงได้มีความยิ้มแย้ม
[1090] ทั่วพุทธอาณาเขต ยกเว้นพระมหามุนีเสีย
เราได้เป็นผู้ประเสริฐในธุดงคคุณ ไม่มีใครเทียบเท่าเรา
[1091] เราปรนนิบัติพระศาสดา
ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว
ปลงภาระที่หนักเสียได้แล้ว ถอนตัณหาที่นำไปสู่ภพได้ขาดแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :516 }