เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [17. ติงสนิบาต] 3. อานนทเถรคาถา
[1034] บุคคลผู้เป็นพหูสูต ทรงธรรม
รักษาคลังธรรมของพระพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ผู้เป็นพหูสูตเช่นนั้นเป็นดวงตาและเป็นปูชนียบุคคล
ของชาวโลกทั้งมวล
[1035] ภิกษุมีธรรม1 เป็นที่มายินดี ยินดีแล้วในธรรม
พิจารณาใคร่ครวญถึงธรรม ระลึกถึงธรรมอยู่
ก็ย่อมไม่เสื่อมจากพระสัทธรรม
[1036] ภิกษุผู้หนักในความตระหนี่กาย
เมื่อกายและชีวิตเสื่อมไปอยู่
เธอไม่ขยันหมั่นเพียร ยังติดความสุขทางกาย
จะมีความอยู่ผาสุกด้วยความเป็นสมณะได้แต่ที่ไหน
[1037] ทิศทุกทิศ ไม่ปรากฏ ธรรมทั้งหลายก็ไม่แจ่มแจ้งแก่เรา
เมื่อพระธรรมเสนาบดีซึ่งเป็นกัลยาณมิตร นิพพานเสียแล้ว
โลกนี้ทั้งหมดปรากฏเหมือนกับว่ามืดมิด
[1038] กัลยาณมิตรเช่นนั้น ย่อมไม่มีแก่ผู้ปราศจากสหาย
ผู้มีพระศาสดาล่วงลับหมือนกายคตาสติ
[1039] มิตรเก่า ก็ล่วงลับไป จิตของเราไม่ยอมสมาคมกับมิตรใหม่
วันนี้เรานั้น ขอเข้าฌานอยู่คนเดียว
เหมือนกับนกเข้าอยู่ประจำรังในฤดูฝน
(พระศาสดาได้ตรัสกับพระอานนทเถระด้วยพระพุทธภาษิตว่า)
[1040] เธออย่าได้ห้ามชนหมู่มากผู้เป็นชาวต่างรัฐต่างถิ่น
ที่พากันมาไม่ทันพบเรา
ชนเหล่านั้นซึ่งมุ่งฟังธรรม จงเข้าพบเราได้
นี้แหละเป็นเวลาเข้าพบเรา

เชิงอรรถ :
1 สมถะและวิปัสสนา (ขุ.เถร.อ. 1035/468)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :509 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [17. ติงสนิบาต] 3. อานนทเถรคาถา
(พระอานนทเถระได้ฟังพุทธดำรัสนั้นแล้ว ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[1041] พระศาสดาผู้มีพระจักษุทรงประทานพระวโรกาส
ไม่ทรงห้ามชนหมู่มากซึ่งเป็นชาวต่างรัฐต่างถิ่น
ที่พากันมาไม่ทันเข้าเฝ้า
[1042] เมื่อเราเป็นเสขบุคคลอยู่ 25 ปี กามสัญญา1มิได้เกิดขึ้น
ท่านจงมองเห็นธรรมว่าเป็นธรรมดีงาม
[1043] เมื่อเราเป็นเสขบุคคลอยู่ 25 ปี โทสสัญญา2มิได้เกิดขึ้น
ท่านจงมองเห็นธรรมว่าเป็นธรรมดีงาม
[1044] เราได้อุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคด้วยเมตตากายกรรม
ดุจพระฉายาที่ติดตามพระองค์เป็นเวลา 25 ปี
[1045] เราได้อุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคด้วยเมตตาวจีกรรม
ดุจพระฉายาที่ติดตามพระองค์เป็นเวลา 25 ปี
[1046] เราได้อุปัฏฐากพระผู้มีพระภาคด้วยเมตตามโนกรรม
ดุจพระฉายาที่ติดตามพระองค์เป็นเวลา 25 ปี
[1047] เมื่อพระพุทธองค์เสด็จจงกรม
เราได้จงกรมตามเบื้องพระปฤษฎางค์ของพระองค์
เมื่อพระองค์ทรงแสดงธรรมอยู่ ญาณได้เกิดขึ้นแก่เรา
[1048] เรายังเป็นเสขะมีกิจที่ต้องทำ ยังไม่ได้บรรลุอรหัต
แต่พระศาสดาผู้ทรงอนุเคราะห์เรา ปรากฏว่าปรินิพพานเสียแล้ว
[1049] เวลานั้น(เรา)ได้มีความสะพรึงกลัว และขนพองสยองเกล้า
ในเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ประกอบด้วยพระคุณอย่างประเสริฐ
โดยอาการทั้งปวง เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว

เชิงอรรถ :
1 ความกำหนดหมายในความใคร่
2 ความกำหนดหมายในความโกรธ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :510 }