เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [17. ติงสนิบาต] 3. อานนทเถรคาถา
[1020] ขอเชิญดูอัตภาพที่สตรีใช้แก้วมณีและต่างหูแต่งให้วิจิตร
ซึ่งมีหนังหุ้มกระดูกไว้ภายใน งามพร้อมเสื้อผ้า
[1021] เท้าทั้งสองย้อมด้วยครั่งสด หน้าทาด้วยจุรณ
ก็สามารถทำคนเขลาให้ลุ่มหลง
แต่ไม่สามารถทำคนที่แสวงหาฝั่งคือนิพพานให้ลุ่มหลงได้
[1022] ผมที่ตบแต่งให้เป็นลอนดังกระดานหมากรุก
ตาทั้งสองที่หยอดด้วยยาหยอดตาก็สามารถทำคนเขลาให้ลุ่มหลง
แต่ไม่สามารถทำคนที่แสวงหาฝั่งคือนิพพานให้ลุ่มหลงได้
[1023] กายที่มีสภาพเปื่อยเน่าเป็นธรรมดาซึ่งตบแต่งแล้ว
เหมือนกล่องยาหยอดตาใหม่ ๆ ที่งดงาม
ก็สามารถทำคนเขลาให้ลุ่มหลง
แต่ไม่สามารถทำคนแสวงหาฝั่งคือนิพพานให้ลุ่มหลงได้
[1024] พระอานนทเถระผู้โคตมโคตร เป็นพหูสูต
กล่าวธรรมได้อย่างวิจิตร เป็นพุทธอุปัฏฐาก
ปลงภาระได้แล้ว พรากจากกิเลสที่ประกอบสัตว์ไว้
พอเอนกายลงนอน
[1025] สิ้นอาสวะ พรากจากกิเลสที่ประกอบสัตว์ไว้
ล่วงกิเลสเป็นเครื่องข้อง ดับกิเลสได้สนิท
ถึงฝั่งแห่งความเกิดและความตาย
ยังทรงร่างกาย ซึ่งมีในภพสุดท้ายอยู่
[1026] ธรรมทั้งหลายของพระพุทธเจ้า
ผู้ทรงเป็นเผ่าพันธุ์แห่งดวงอาทิตย์
ตั้งอยู่เฉพาะในบุรุษพิเศษใด
บุรุษพิเศษนั้น คือพระอานนทโคตมโคตร
ยังดำรงอยู่ในหนทางเป็นที่ดำเนินไปสู่นิพพาน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :507 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [17. ติงสนิบาต] 3. อานนทเถรคาถา
[1027] เราได้เรียนมาจากพระพุทธเจ้า 82,000 พระธรรมขันธ์
จากภิกษุ 2,000 พระธรรมขันธ์
จึงรวมธรรมที่เราช่ำชองคล่องปากได้ 84,000 พระธรรมขันธ์
[1028] คนที่มีการศึกษาน้อยนี้ย่อมแก่ไปเปล่าเหมือนโคพลิพัท1
เขาเจริญแต่เนื้อหนัง ส่วนปัญญาหาเจริญไม่
[1029] ผู้ที่มีการศึกษามาก กลับดูหมิ่นผู้ที่มีการศึกษาน้อย
เพราะการศึกษาเป็นเหตุ ย่อมปรากฏแก่เรา
เหมือนคนตาบอดถือดวงประทีปไป
[1030] บุคคลพึงเข้าไปนั่งใกล้ท่านผู้เป็นพหูสูต
ทั้งไม่ควรทำสุตะ2ให้เสื่อมสูญไป
เพราะความเป็นพหูสูตนั้นเป็นรากเง่าของพรหมจรรย์
ฉะนั้น จึงควรเป็นผู้ทรงธรรม
[1031] บุคคลรู้เบื้องต้นและเบื้องปลายภาษิต
รู้อรรถแห่งภาษิต ฉลาดในนิรุตติ และในบท3
เรียนธรรมให้รู้ให้เข้าใจดีและพิจารณาเนื้อความ
[1032] เขาก็ทำความพอใจด้วยความอดทน
พยายามพิจารณาไตร่ตรองถึงนามรูปนั้น
เริ่มตั้งความเพียรในเวลา(ที่ควรประคองจิตเป็นต้น)
จึงจะพึงเป็นผู้มีจิตตั้งมั่นดีในภายในได้
[1033] ผู้หวังความรู้แจ้งธรรมพึงคบหาท่านผู้เป็นพหูสูต
ทรงธรรม มีปัญญา เป็นพุทธสาวกเช่นนั้น

เชิงอรรถ :
1 โคถึกที่มีกำลัง (ขุ.เถร.อ. 2/1028/466)
2 ความเป็นผู้มีการศึกษามากด้วยการเล่าเรียน (ขุ.เถร.อ. 2/1030/467)
3 ปฏิสัมภิทาทั้ง 4 คือในนิรุตติปฏิสัมภิทาและในปฏิสัมภิทา 3 ที่เหลือ (ขุ.เถร.อ. 2/1031/467)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :508 }