เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [17. ติงสนิบาต] 2. สารีปุตตเถรคาถา
[996] เราไม่ได้ตั้งความปรารถนาไว้
เพื่อปุพเพนิวาสญาณ1 ทิพพจักขุญาณ2
เจโตปริยญาณ3 อิทธิวิธญาณ4
จุตูปปาตญาณ5 และทิพพโสตญาณ6
(ยักษ์กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[997] พระเถระโล้นชื่ออุปติสสะนั่นแหละ
ยอดเยี่ยมด้วยปัญญา
ครองผ้าสังฆาฏิอาศัยโคนไม้นั่นเองนั่งเข้าฌานอยู่
[998] สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเข้าสมาบัติอันไม่มีวิตก
เป็นผู้ประกอบด้วยความเป็นผู้นิ่งอย่างประเสริฐโดยแท้จริง
[999] ภูเขาศิลาล้วน ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว แม้ฉันใด
ภิกษุก็ฉันนั้นเพราะสิ้นโมหะ ย่อมไม่หวั่นไหวเหมือนภูเขา
(พระสารีบุตรเถระฟังคำของสามเณรนั้นแล้ว จึงได้กล่าวภาษิตว่า)
[1000] คนผู้ไม่มีกิเลสเครื่องยั่วยวน
ใฝ่ใจแสวงหาความสะอาดอยู่เป็นนิตย์
ความชั่วเพียงเท่าปลายขนทราย
ย่อมปรากฏดังเท่าก้อนเมฆ
(พระสารีบุตรเถระเมื่อจะแสดงว่าตนมีจิตเสมอกัน ทั้งตาย ทั้งเป็นอยู่ จึง
กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)

เชิงอรรถ :
1 ความรู้ที่เป็นเครื่องระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อน ทั้งของตนและของผู้อื่น
2 ความรู้คือดวงตาทิพย์
3 ความรู้กำหนดใจผู้อื่นได้
4 ความรู้ที่แสดงฤทธิ์ได้ต่าง ๆ
5 ความรู้การจุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย
6 ความรู้ที่ทำให้ฟังได้ยินหมดตามปรารถนา (หูทิพย์) 1-6 (ขุ.เถร.อ. 2/996/443)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :503 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [17. ติงสนิบาต] 2. สารีปุตตเถรคาถา
[1001] เราไม่อยากตาย ไม่อยากเป็นอยู่
แต่เรามีสติสัมปชัญญะอยู่เฉพาะหน้า จักละกายนี้
[1002] เราไม่อยากตาย ไม่อยากเป็นอยู่
แต่เราคอยเวลาอันควร
เหมือนลูกจ้างทำการงานคอยค่าจ้าง
(และเมื่อจะแสดงธรรมแก่ผู้อื่น จึงได้กล่าวไว้อีก 2 ภาษิตว่า)
[1003] ความตายนี้มีแน่นอนใน 2 คราว
คือ คราวแก่และคราวหนุ่มจะไม่ตาย ไม่มี
เพราะฉะนั้น ท่านทั้งหลายจงปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ อย่าพินาศเลย
ขณะอย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย
[1004] เมืองชายแดนได้รับการคุ้มครองทั้งภายในและภายนอก ฉันใด
ท่านทั้งหลายโปรดคุ้มครองตนให้ได้ ฉันนั้น
ขณะอย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย
เพราะเหล่าชนที่ปล่อยให้ขณะล่วงเลยไป
ย่อมแออัดกันในนรก เศร้าโศกอยู่
(พระสารีบุตรเถระ พบท่านพระมหาโกฏฐิตะเมื่อจะประกาศเกียรติคุณของท่าน
จึงได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[1005] ภิกษุผู้สงบ งดเว้นจากการทำชั่ว
พูดด้วยปัญญา ไม่ฟุ้งซ่าน
ย่อมกำจัดบาปธรรมทั้งหลายได้
เหมือนกับลมพัดใบไม้ให้ร่วงหล่น
[1006] ภิกษุผู้สงบระงับ งดเว้นจากการทำความชั่ว
มักพูดด้วยปัญญา ไม่ฟุ้งซ่าน
ย่อมกำจัดบาปธรรมได้แล้ว
เหมือนกับลมพัดใบไม้ให้ลอยไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :504 }