เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [17. ติงสนิบาต] 1. ปุสสเถรคาถา
[971] ผู้ใดมีศีลวิบัติ มีปัญญาทราม ไม่สำรวมอินทรีย์
ชอบทำตามความพอใจ มีจิตฟุ้งซ่าน ทั้งไม่บริสุทธิ์
ผู้นั้นไม่ควรที่จะนุ่งห่มผ้ากาสาวะเลย
[972] ส่วนผู้ใดสมบูรณ์ด้วยศีล ปราศจากราคะ
มีจิตตั้งมั่นดี มีความดำริในใจใสสะอาด
ผู้นั้นแหละ ควรที่จะนุ่งห่มผ้ากาสาวะได้
[973] ผู้ที่ไม่มีศีล ฟุ้งซ่าน มีมานะจัด เป็นคนพาล
ควรที่จะนุ่งห่มผ้าขาวเท่านั้น
ผ้ากาสาวะจะช่วยอะไรได้
[974] ในกาลภายหน้า ทั้งพวกภิกษุและภิกษุณี
ผู้มีใจชั่ว ไม่เอื้อเฟื้อ
จะข่มขี่ฝ่ายที่คงที่มีจิตเมตตา
[975] พวกที่เป็นคนโง่เขลา มีปัญญาทราม
ไม่สำรวมอินทรีย์ ชอบทำตามความพอใจ
ถึงพระเถระทั้งหลาย จะสอนให้ครองจีวร ก็จักไม่เชื่อฟัง
[976] พวกเธอซึ่งเป็นคนโง่เขลา
พระอุปัชฌาย์อาจารย์สอนอย่างนั้น
ก็จะไม่เคารพกันและกัน
ไม่เอื้อเฟื้อพระอุปัชฌาย์อาจารย์
เหมือนม้าพยศไม่ยอมให้สารถีฝึก
[977] ครั้นกาลภายหลัง(ตติยสังคายนา)ผ่านไปแล้ว
พวกภิกษุและภิกษุณีในกาลภายหน้า จักปฏิบัติกันอย่างนี้
(ครั้นพระปุสสเถระแสดงภัยอย่างใหญ่หลวงที่ยังมาไม่ถึงนั้นจะมาถึงในกาล
ภายหน้าอย่างนั้น เมื่อจะให้โอวาทแก่ภิกษุทั้งหลายที่ประชุมกัน ณ ที่นั้นอีก จึง
ได้กล่าว 3 ภาษิตเหล่านี้ว่า)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :499 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [17. ติงสนิบาต] 2. สารีปุตตเถรคาถา
[978] ภัยอย่างใหญ่หลวงซึ่งยังมาไม่ถึงนี้ จะมาถึงข้างหน้า
ขอท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ว่าง่าย พูดจาอ่อนหวาน
มีความเคารพกันและกัน
[979] มีจิตเมตตากรุณา สำรวมในศีล
ปรารภความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว
บากบั่นมั่นคงเป็นประจำเถิด
[980] ขอชนทั้งหลายจงเห็นความประมาทโดยเป็นสิ่งที่น่ากลัว
และเห็นความไม่ประมาทโดยเป็นสิ่งที่เกษม
แล้วบำเพ็ญอัฏฐังคิกมรรคที่จะบรรลุอมตบท1ได้

2. สารีปุตตเถรคาถา
ภาษิตของพระสารีบุตรเถระ
(พระสารีบุตรเถระเมื่อจะพยากรณ์พระอรหัตแก่ภิกษุทั้งหลาย จึงได้กล่าว
ภาษิตเหล่านี้ว่า)
[981] ผู้ใดมีสติประพฤติเหมือนผู้สำรวมกาย เหมือนสัตบุรุษ
ไม่ประมาท เหมือนผู้สำรวมความคิด
ยินดีในการเจริญกรรมฐานไว้ภายใน
มีจิตตั้งมั่นดีอยู่ผู้เดียว สันโดษ
นักปราชญ์ทั้งหลาย เรียกผู้นั้นว่าเป็นภิกษุ
[982] ภิกษุ เมื่อฉันอาหารสดก็ตาม แห้งก็ตาม
ไม่พึงฉันให้อิ่มเกินไป ไม่พึงฉันให้น้อยเกินไป
พึงฉันแต่พอประมาณ พึงมีสติอยู่
[983] พึงเลิกฉันก่อนอิ่ม 4-5 คำ แล้วดื่มน้ำ
เท่านี้ก็เพียงพอเพื่ออยู่ผาสุก
ของภิกษุผู้มีใจเด็ดเดี่ยวมุ่งนิพพาน

เชิงอรรถ :
1 นิพพาน (ขุ.เถร.อ. 2/980/407)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :500 }