เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [17. ติงสนิบาต] 1. ปุสสเถรคาถา
17. ติงสนิบาต
1. ปุสสเถรคาถา
ภาษิตของพระปุสสเถระ
(พระสังคีติกาจารย์ได้กล่าวภาษิตเบื้องต้นไว้ว่า)
[949] ฤๅษีปัณฑรสโคตรได้พบเห็นภิกษุมากรูป
ผู้น่าเลื่อมใส อบรมตน สำรวมดีแล้ว
ได้สอบถามพระปุสสเถระว่า
[950] ในกาลภายหน้า ภิกษุทั้งหลายในพระศาสนานี้
จะมีความพอใจอย่างไร มีความประสงค์อย่างไร
มีอากัปกิริยาอย่างไร
ข้าพเจ้าเรียนถามท่านแล้ว นิมนต์บอกความข้อนั้นด้วยเถิด
(พระปุสสเถระไดักล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[951] ท่านปัณฑรสฤๅษี เชิญท่านฟังคำของอาตมา
ขอเชิญตั้งใจจดจำให้ดี
อาตมาจะบอกข้อความที่ท่านถามถึงอนาคตแก่ท่าน
[952] ในกาลภายหน้า ภิกษุทั้งหลายส่วนมาก
จักเป็นผู้มักโกรธ ผูกโกรธ ลบหลู่คุณท่าน
หัวดื้อ โอ้อวด ริษยา และมีวาทะขัดแย้งกัน
[953] มีความสำคัญในสัทธรรมที่ยังไม่รู้ ไม่เห็นว่ารู้ ว่าเห็น
มีความคิดในธรรมที่ลึกซึ้งว่าตื้น เป็นคนเบา
ไม่หนักแน่นในธรรม ไม่เคารพกันและกัน
[954] ในกาลภายหน้า โทษเป็นอันมาก
จะเกิดขึ้นในสัตว์โลก
ภิกษุทั้งหลายผู้ไร้ความคิด
จะทำธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้วนี้
ให้มัวหมอง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :496 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [17. ติงสนิบาต] 1. ปุสสเถรคาถา
[955] ทั้งจะเสื่อมจากคุณธรรม กล้าพูดในท่ามกลางสงฆ์
มีพวกมาก ปากจัด ไม่ยอมรับฟัง(ความคิดเห็นของผู้อื่น)
[956] ฝ่ายพวกที่มีคุณธรรม พูดในท่ามกลางสงฆ์ตามความเป็นจริง
ละอายใจ ไม่ต้องการผลประโยชน์จักมีพวกน้อย
[957] ในกาลภายหน้า ภิกษุทั้งหลายจะมีปัญญาทราม
พากันยินดี เงิน ทอง ไร่นา สวน แพะ แกะ และคนใช้ชายหญิง
[958] จะเป็นคนอันธพาล ชอบมุ่งแต่จะตำหนิติเตียน
ไม่ตั้งมั่นในศีล ถือตัวจัด โหดร้าย เที่ยวไป
ชอบก่อการทะเลาะวิวาท
[959] ทั้งจะมีใจฟุ้งซ่าน นุ่งห่มแต่จีวรสีเขียว
เที่ยวทำตัวดังพระอริยะ
[960] จะใช้น้ำมันแต่งผมให้งดงาม
เป็นคนเหลาะแหละเหลวไหล
ใช้ยาหยอดแต่งตา นุ่งห่มจีวรสีงาช้าง
เที่ยวไปตามถนนหนทาง
[961] จะรังเกียจผ้ากาสาวะซึ่งย้อมดีแล้ว
ที่พระอริยะทั้งหลายไม่รังเกียจ
เป็นธงชัยของพระอรหันต์ ชอบใช้แต่ผ้าขาว
[962] จะมุ่งแต่ลาภ เกียจคร้าน มีความเพียรย่อหย่อน
รังเกียจเสนาสนะป่า
ชอบอยู่แต่เสนาสนะใกล้บ้าน
[963] จะไม่สำรวม เที่ยวประพฤติตามพวกภิกษุ
ที่ยินดีในมิจฉาชีพ ได้ลาภอยู่เสมอ ๆ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :497 }