เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [16. วีสตินิบาต] 6. เสลเถรคาถา
(มาณพทั้งหลายซึ่งเป็นอันเตวาสิก 300 คน ได้กล่าวภาษิตนี้ว่า)
[835] ถ้าท่านอาจารย์ผู้เจริญชอบใจคำสอน
ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้
แม้พวกเราก็จะบวชในสำนัก
ของพระพุทธเจ้าผู้มีพระปัญญาประเสริฐ
(พระเสลเถระ ครั้งเป็นคฤหัสถ์ดีใจ ได้กราบทูลด้วยภาษิตว่า)
[836] พราหมณ์ 300 คนนี้ พากันประนมมือ ทูลขอบรรพชาว่า
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทั้งหลาย
จะประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของพระองค์
(พระผู้มีพระภาค ให้พราหมณ์ทั้งหมดบวชแล้ว ตรัสพระพุทธภาษิตว่า)
[837] เสละ พรหมจรรย์เรากล่าวไว้ดีแล้ว
ผู้บรรลุจะเห็นได้เอง ให้ผลไม่จำกัดกาล
ในศาสนาที่มีการบรรพชาไม่ไร้ผล
เมื่อคนที่ไม่ประมาทหมั่นศึกษาอยู่
(พระเสลเถระเมื่อจะพยากรณ์พระอรหัต ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[838] ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้มีพระจักษุ
เพราะข้าพระองค์ทั้งหลายได้ถึงสรณคมน์นั้นในวันที่ 8 แต่นี้ ฉะนั้น
ข้าพระองค์ทั้งหลายจึงได้ใช้เวลาฝึกอินทรีย์
ในพระศาสนาของพระองค์มาเป็นเวลา 7 วัน
[839] พระองค์ทรงเป็นสัพพัญญูพุทธเจ้า
เป็นศาสดา เป็นจอมปราชญ์ ทรงครอบงำมารได้
ทรงตัดอนุสัยกิเลสได้ ทรงข้ามห้วงน้ำใหญ่คือสงสารได้แล้ว
จึงทรงยังหมู่สัตว์นี้ให้ข้ามได้ด้วย
[840] พระองค์ทรงล่วงอุปธิกิเลสได้พ้น ทำลายอาสวะแล้ว
ไม่มีความยึดมั่น ละความหวาดกลัวภัยได้
เหมือนราชสีห์ ไม่กลัวต่อหมู่เนื้อ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :479 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [16. วีสตินิบาต] 7. ภัททิยกาฬิโคธาปุตตเถรคาถา
[841] ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงแกล้วกล้า
ภิกษุทั้ง 300 รูปนี้ ยืนประนมมืออยู่
ขอพระองค์ทรงเหยียดพระยุคลบาทเถิด
ภิกษุทั้งหลาย จะได้ถวายบังคมพระองค์ผู้เป็นศาสดา

7. ภัททิยกาฬิโคธาปุตตเถรคาถา
ภาษิตของพระภัททิยกาฬิโคธาปุตรเถระ
(พระภัททิยกาฬิโคธาบุตรเถระ (ได้บันลือสีหนาทต่อพระพักตร์พระศาสดา
ด้วยภาษิตเหล่านี้ว่า)
[842] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ (เมื่อก่อน) ข้าพระองค์
เมื่อจะไปไหน นั่งคอช้างไป
เมื่อจะนุ่งห่มผ้า ก็นุ่งห่มผ้าเนื้อละเอียด
เมื่อจะบริโภค ก็บริโภคแต่ข้าวสาลีที่ราดด้วยเนื้ออันสะอาด
[843] บัดนี้ ข้าพระองค์มีนามว่าภัททิยะ
เป็นโอรสของพระนางกาฬิโคธา
เป็นผู้เจริญ มีความเพียรต่อเนื่อง
ยินดีในอาหารที่บิณฑบาตได้มา ไม่ยึดมั่น เพ่งพินิจอยู่
[844] ข้าพระองค์มีนามว่าภัททิยะ เป็นโอรสของพระนางกาฬิโคธา
ถือการนุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร มีความเพียรต่อเนื่อง
ยินดีในอาหารที่บิณฑบาตได้มา ไม่ยึดมั่น เพ่งพินิจอยู่
[845] ฯลฯ ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร
มีความเพียรต่อเนื่อง ฯลฯ
[846] ฯลฯ ถือการครองผ้า 3 ผืนเป็นวัตร
มีความเพียรต่อเนื่อง ฯลฯ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :480 }