เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [16. วีสตินิบาต] 6. เสลเถรคาถา
[829] พราหมณ์ ท่านจงกำจัดความเคลือบแคลงสงสัยในเราเสีย
จงน้อมใจเชื่อเราเสียเถิด
เพราะว่าการพบเห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย
[830] ผู้จะปรากฏเนือง ๆ ในโลก
ย่อมเป็นการหาได้ยาก
พราหมณ์ เรานั้น เป็นพุทธเจ้า
เป็นหมอผ่าตัดลูกศรคือกิเลสมีราคะเป็นต้นชั้นเยี่ยม
[831] เป็นผู้ประเสริฐ ไม่มีผู้เปรียบเทียบ
ย่ำยีมารและเสนามาร
ทำมารทั้งหมดซึ่งไม่ใช่มิตรไว้ในอำนาจ
ไม่มีภัยแต่ที่ไหนเบิกบานอยู่
(พระเสลเถระ ครั้งเป็นคฤหัสถ์ กราบทูลด้วย 3 คาถาว่า)
[832] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอเชิญพระองค์
จงทรงใคร่ครวญคำของข้าพระองค์นี้
เหมือนอย่างที่พระตถาคตผู้มีพระจักษุ
เป็นหมอผ่าตัดลูกศรคือกิเลสมีราคะเป็นต้น
เป็นมหาวีระ ตรัสไว้ดังราชสีห์บันลือในป่า
[833] ใครได้เห็นพระองค์ผู้ประเสริฐ ไม่มีผู้เปรียบเทียบ
ย่ำยีมารและเสนามาร
จะไม่พึงเลื่อมใสเล่า
ถึงคนที่เกิดในตระกูลต่ำก็ยังเลื่อมใส
[834] ผู้ปรารถนาจะตามฉัน ก็เชิญมา
หรือผู้ไม่ปรารถนา ก็เชิญกลับไป
ฉันจะบวชในสำนักของพระพุทธเจ้า
ผู้มีพระปัญญาประเสริฐนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :478 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [16. วีสตินิบาต] 6. เสลเถรคาถา
(มาณพทั้งหลายซึ่งเป็นอันเตวาสิก 300 คน ได้กล่าวภาษิตนี้ว่า)
[835] ถ้าท่านอาจารย์ผู้เจริญชอบใจคำสอน
ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้
แม้พวกเราก็จะบวชในสำนัก
ของพระพุทธเจ้าผู้มีพระปัญญาประเสริฐ
(พระเสลเถระ ครั้งเป็นคฤหัสถ์ดีใจ ได้กราบทูลด้วยภาษิตว่า)
[836] พราหมณ์ 300 คนนี้ พากันประนมมือ ทูลขอบรรพชาว่า
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทั้งหลาย
จะประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของพระองค์
(พระผู้มีพระภาค ให้พราหมณ์ทั้งหมดบวชแล้ว ตรัสพระพุทธภาษิตว่า)
[837] เสละ พรหมจรรย์เรากล่าวไว้ดีแล้ว
ผู้บรรลุจะเห็นได้เอง ให้ผลไม่จำกัดกาล
ในศาสนาที่มีการบรรพชาไม่ไร้ผล
เมื่อคนที่ไม่ประมาทหมั่นศึกษาอยู่
(พระเสลเถระเมื่อจะพยากรณ์พระอรหัต ได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[838] ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้มีพระจักษุ
เพราะข้าพระองค์ทั้งหลายได้ถึงสรณคมน์นั้นในวันที่ 8 แต่นี้ ฉะนั้น
ข้าพระองค์ทั้งหลายจึงได้ใช้เวลาฝึกอินทรีย์
ในพระศาสนาของพระองค์มาเป็นเวลา 7 วัน
[839] พระองค์ทรงเป็นสัพพัญญูพุทธเจ้า
เป็นศาสดา เป็นจอมปราชญ์ ทรงครอบงำมารได้
ทรงตัดอนุสัยกิเลสได้ ทรงข้ามห้วงน้ำใหญ่คือสงสารได้แล้ว
จึงทรงยังหมู่สัตว์นี้ให้ข้ามได้ด้วย
[840] พระองค์ทรงล่วงอุปธิกิเลสได้พ้น ทำลายอาสวะแล้ว
ไม่มีความยึดมั่น ละความหวาดกลัวภัยได้
เหมือนราชสีห์ ไม่กลัวต่อหมู่เนื้อ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :479 }