เมนู

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [16. วีสตินิบาต] 4. รัฏฐปาลเถรคาถา
[771] เท้าทั้งสองย้อมด้วยครั่งสด หน้าทาด้วยจุรณ
ก็สามารถทำคนเขลาให้ลุ่มหลง
แต่ไม่สามารถทำคนที่แสวงหาฝั่งคือนิพพานให้ลุ่มหลงได้
[772] ผมที่ตบแต่งให้เป็นลอนดังกระดานหมากรุก
ตาทั้งสองที่หยอดด้วยยาหยอดตาก็สามารถทำคนเขลาให้ลุ่มหลง
แต่ไม่สามารถทำคนที่แสวงหาฝั่งคือนิพพานให้ลุ่มหลงได้
[773] กายที่มีสภาพเปื่อยเน่าเป็นธรรมดาซึ่งตบแต่งแล้ว
เหมือนกล่องยาหยอดตาใหม่ ๆ ที่งดงาม
ก็สามารถทำคนเขลาให้ลุ่มหลง
แต่ไม่สามารถทำคนที่แสวงหาฝั่งคือนิพพานให้ลุ่มหลงได้
[774] นายพรานเนื้อดักบ่วงไว้แล้ว เนื้อไม่มาติดบ่วง
เราทั้งหลาย(ฝูงเนื้อ)กินเหยื่อแล้วหลบหนีไป
เมื่อนายพรานกำลังคร่ำครวญอยู่
[775] เราทั้งหลายกัดบ่วงของพรานเนื้อขาดแล้ว เนื้อไม่ติดบ่วง
เรากินเหยื่อแล้วหลบหนีไป เมื่อพรานเนื้อกำลังเศร้าโศกอยู่
[776] อาตมาเห็นผู้คนที่มีทรัพย์ในโลก ได้ทรัพย์เครื่องปลื้มใจแล้ว
ไม่ยอมให้(ใคร) เพราะความหลง
ได้ทรัพย์แล้ว เก็บสะสมไว้ และปรารถนากามคุณยิ่ง ๆ ขึ้นไป
[777] พระราชาทรงกดขี่ ช่วงชิงเอาแผ่นดิน
ทรงครอบครองแผ่นดินซึ่งมีสมุทรสาครล้อมรอบ
ตลอดสมุทรสาครฝั่งนี้ ยังไม่ทรงพอ
ยังทรงปรารถนาจะครอบครองสมุทรสาครฝั่งโน้นอีก
[778] ทั้งพระราชาและคนอื่นเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ปราศจากตัณหา
เข้าถึงความตาย ยังไม่เต็มตามที่ต้องการเลย
ก็ละทิ้งร่างกายไป เพราะความอิ่มด้วยกามไม่มีในโลก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :469 }


พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย เถรคาถา [16. วีสตินิบาต] 4. รัฏฐปาลเถรคาถา
[779] หมู่ญาติพากันสยายผม คร่ำครวญถึงคนที่ตายนั้นและพูดว่า
ทำอย่างไรหนอ พวกญาติของเราทั้งหลายจึงจะไม่ตาย
แต่นั้นก็นำศพนั้นซึ่งห่อผ้าไว้แล้วยกขึ้นสู่เชิงตะกอนแล้วช่วยกันเผา
[780] ศพนั้นถูกเขาใช้หลาวแทงเผาอยู่ ละโภคทรัพย์ มีแต่ผ้าผืนเดียว
เมื่อคนจะตาย ญาติ มิตร หรือสหายก็ช่วยไม่ได้
[781] ทายาททั้งหลายก็ขนทรัพย์สมบัติของเขาไป
ส่วนสัตว์ที่ตายไปก็ย่อมไปตามกรรม
เมื่อตายไป ทรัพย์ไร ๆ คือ บุตร ภรรยา ข้าวของ เงินทอง
และแว่นแคว้นก็ติดตามไปไม่ได้
[782] ทรัพย์ช่วยคนให้มีอายุยืนไม่ได้
ทั้งช่วยคนให้ละความแก่ก็ไม่ได้
นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวชีวิตนั้นว่าน้อยนัก
ไม่ยั่งยืน มีความแปรเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา
[783] ทั้งคนมั่งมี ทั้งคนยากจนก็ย่อมประสบเช่นนั้น
ทั้งพาลและบัณฑิตก็ประสบเหมือนกันทั้งนั้น
คนพาลนั่นแหละถูกเหตุแห่งทุกข์กระทบเข้า
ย่อมหวั่นไหวเพราะความเป็นคนโง่
ส่วนบัณฑิตถูกต้องก็ไม่หวั่นไหว
[784] เพราะเหตุนั้นแล ปัญญาเท่านั้นเป็นเหตุบรรลุนิพพาน
ซึ่งเป็นที่สุดแห่งภพในโลกนี้ จึงประเสริฐกว่าทรัพย์
ก็เพราะยังไม่ได้บรรลุที่สุด คนพาลทั้งหลายจึงทำแต่กรรมชั่วในภพ
น้อยภพใหญ่เพราะความเขลา
[785] ผู้ที่ทำกรรมชั่ว ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏร่ำไป
คนมีปัญญาน้อย เมื่อเชื่อคนที่ทำกรรมชั่วนั้น
ก็ย่อมเวียนว่ายตายเกิดร่ำไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 26 หน้า :470 }